เนื้อหาวันที่ : 2007-07-11 09:37:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5076 views

สวทช.จับมือ มทร. หนุนซ่อมบำรุงเครื่องจักรเสริมอุตฯไทยสู่ระดับสากล

หวังขยายฐานผู้เชี่ยวชาญซ่อมบำรุง และส่งเสริมงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีคุณภาพ เพื่อให้มีความก้าวหน้า และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล

.

ผอ.ศูนย์บริหารจัดการเทคโนลี (TMC) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกันลงนามความร่วมมือ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรมไทย หวังขยายฐานผู้เชี่ยวชาญซ่อมบำรุง และส่งเสริมงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีคุณภาพ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยมีความก้าวหน้า และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล

.

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศูนย์ TMC ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการส่งเสริมและสนับงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรมไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครวิทยาเขตพระนครเหนือ เนื่องจากเห็นว่า การจะพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้รุดหน้าขึ้นไปนั้นเทคโนโลยีนับเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยที่ผ่านมาโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์ TMC ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ภาคการผลิต โดยให้ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเข้าไปให้บริการเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

.

รวมทั้งเครือข่ายวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งพบว่าปัญหาเกี่ยวกับระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นปัญหาพื้นฐานที่มักถูกมองข้าม ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญ คือบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ และเพื่อเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการขยายเครือข่ายการให้บริการไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศของ iTAP จึงจำเป็นต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูง

.

"ความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งหวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรให้มีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมพัฒนาและสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านงานระบบบำรุงรักษาเครื่องจักรให้มีศักยภาพที่จะสามารถให้คำปรึกษาแนะนำงานบำรุงรักษาเครื่องจักรแก่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน และด้วยศักยภาพความพร้อมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครด้านบุคลากรที่มีศักยภาพ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้นจากโครงการความร่วมมือนี้จะกลายเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการบริการอุตสาหกรรมไทยต่อไป"

.

ด้าน รศ.ดวงสุดา เตโชติรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร(มทร.) กล่าวว่า การช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศถือเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในโครงการนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการ และเป็นต้นแบบสำหรับผู้เชี่ยวชาญใหม่ในการขยายเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือแก่สถานประกอบการ ซึ่งตรงกับความมุ่งมั่นและนโยบายการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัย

.

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจะเป็นการฝึกอบรมอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง 35 คนเข้าร่วม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยเนื้อหาการอบรมจะเน้นการให้ความรู้ในงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร การฝึกสอนให้ทราบถึงกระบวนการทำงานต่างๆ ของเครื่องจักรอย่างถูกต้อง การแนะนำให้รู้จักชิ้นส่วนแต่ละชิ้นของเครื่องจักร ตลอดจนสามารถจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับโรงงานต่อไปได้

.

รศ.ดวงสุดา กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมโครงการของมหาวิทยาลัยราชมงคลทั้ง 9แห่งครั้งนี้ จะยังประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอาจารย์ที่จะได้นำความรู้ที่มีอยู่ไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม และนำประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมและการทำงานจริงกลับเข้าสู่ห้องเรียน เพื่อถ่ายทอดให้นักศึกษาได้มีความเข้าใจตั้งแต่ภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นการหล่อหลอมให้นักศึกษากลายเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ตลอดจนสถานที่และการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการการส่งเสริมและการซ่อมบำรุงฯ บรรลุผลมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านงานซ่อมบำรุงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อีกด้วย