เนื้อหาวันที่ : 2007-07-10 17:47:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1969 views

สมอ. คุมเข้มรถยนต์ขนาดใหญ่ จี้ควบคุมปล่อยสารมลพิษลดลง

มติ "ขมิ้นอ่อน" ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจัดระเบียนมาตรฐานปริมาณสารมลพิษจากเครื่องยนต์ของยานยนต์ กำหนดให้ผู้ทำหรือผู้นำเข้ายานยนต์ ต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.1295-2541 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม

มติ "ขมิ้นอ่อน" ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจัดระเบียนมาตรฐานปริมาณสารมลพิษจากเครื่องยนต์ของยานยนต์ กำหนดให้ผู้ทำหรือผู้นำเข้ายานยนต์ ต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.1295-2541 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม

.

นายไพโรจน์ สัญญะเดชากุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญ และดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องมาโดยตลอด คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จัดทำมาตรฐานปริมาณสารมลพิษจากเครื่องยนต์ของยานยนต์เพื่อกำหนดให้ผู้ทำ ผู้นำเข้ายานยนต์ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการควบคุมปริมาณสารมลพิษจากยานยนต์ สำหรับมาตรฐานสารมลพิษรถยนต์ขนาดใหญ่ สมอ. ได้ดำเนินการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.1295-2541

.

นับตั้งแต่ปี 2542 ต่อมาคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเห็นควรยกเลิกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และกำหนดมาตรฐานใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ประกาศเป็นมาตรฐานรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ระดับที่ 4 ตามมาตรฐาน มอก.2315-2549 ซึ่งการกำหนดให้รถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดต้องเป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป เลขาธิการ สมอ. เผยความคืบหน้าของมาตรฐานเรื่องนี้ว่า ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้วและไม่มีผู้ยื่นคัดค้าน

.

ดังนั้น สมอ. จึงเตรียมเสนอร่างมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อตราพระราชกฤษฎีกา ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยมีสาระสำคัญ คือ 1)กำหนดโดยใช้ Directive 1999/96/EC as last amended by Directive 2001/27/EC EURO III อ้างอิง 2)ประเภทรถยนต์ครอบคลุมรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดมวลเต็มอัตราบรรทุกเกิน 3500 กิโลกรัม แต่ยกเว้นรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง 3)กำหนดคุณลักษณะสำคัญเกี่ยวกับการทดสอบหาปริมาณสารมลพิษ

.

โดยการทดสอบแบบสถานะคงตัว, การทดสอบแบบสนองภาระเพื่อวัดปริมาณควันเมื่อเครื่องยนต์ทำงานแบบมีภาระที่ความเร็วรอบต่างๆ และการทดสอบการทำงานแบบชั่วขณะ 4)เกณฑ์กำหนดสารมลพิษโดยรวมลดลงทำให้ปริมาณสารมลพิษ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)ไฮโดรคาร์บอน (HC) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) สารมลพิษอนุภาค (PM) ลดลง 30 % จากระดับเดิมที่บังคับใช้อยู่ เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อดำเนินการผ่านกระบวนการต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว สมอ.จะแจ้งรายละเอียดประกาศใช้บังคับมาตรฐานที่ปรับปรุงใหม่ของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ทราบต่อไป หากผู้ประกอบการและผู้สนใจต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักบริหารมาตรฐาน 2 โทรศัพท์ 02202 3469-70 และกองนิติการ โทรศัพท์ 0 2202 3322