เนื้อหาวันที่ : 2015-09-15 13:53:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1785 views

ทำเกษตรแบบพอเพียง สร้างความสมดุลสู่ธรรมชาติ

นายมนตรี บุญจรัส

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

ถ้าจะคิด ถ้าจะทำอาชีพเกษตรกรรมโดยที่ไม่ต้องใช้เงิน หลายท่านก็คงจะคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้  แต่ถ้าได้อ่านบทความนี้แล้ว จะเข้าใจว่าเป็นไปได้ ถ้ามีหัวใจพอเพียง เพราะการทำเกษตรกรรมถ้าค่อยคิด ค่อยทำ ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ คือ เมื่อหมดรอบฤดูเก็บเกี่ยวไปในแต่ละคราว ควรจะต้องแบ่งผลผลิตส่วนหนึ่งให้คงเหลือไว้ทำพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพริก มะละกอ ข้าวโพด ถั่วฝักยาว มะระ ฟักแฟง แตงกวา ฯลฯ แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม ไว้ตามขื่อคาหรือใต้ถุน เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ ก็นำเมล็ดพันธุ์ที่เก็บที่สำรองไว้มาเริ่มทำการเพาะปลูกใหม่ ทำแบบนี้เป็นประจำทุกปีก็ไม่มีความจำเป็นต้องเสียเงินไปซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากบริษัทใหญ่ ๆ แถมยังเป็นการแตกกอต่อยอดได้สายพันธุ์ใหม่ให้ลูกหลานไทยได้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารไว้เป็นสมบัติของชาติได้อีกด้วย เพราะการเพาะปลูกด้วยเมล็ดมีโอกาสได้ทั้งพันธุ์ที่ดีกว่าและพันธุ์ด้อยจากต้นแม่ต้นเดิม  ถ้าได้การกลายพันธุ์จากต้นแม่เดิมที่เด่นและดีกว่าก็ควรเก็บรักษาไว้ เพียงการเริ่มต้นดูแลรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ด้วยตนเอง เราก็สามารถที่จะมีความมั่นคงด้านพันธุ์พืชแบบไทยๆ โดยไม่ต้องรอซื้อกับบริษัทนำเข้า

 ต่อมาอีกแนวทางหนึ่งก็คือการให้ความสำคัญกับอินทรีย์วัตถุที่จะต้องใส่เสริมเพิ่มเติมลงไปในดิน ต้องทำให้ได้เหมือนกับต้นไม้ในป่าเขาลำเนาไพร ที่เข้ามีเศษกิ่งไม้ใบหญ้าสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนร่วงหล่นกันลงมาเป็นอาหาร เป็นบ้าน ให้กับจุลินทรีย์ไส้เดือน แมงมุม และสิ่งมีชิวิตอื่นๆ อีกนานาชนิด ทำให้ดินไม่เคยเสื่อมคลายความอุดมสมบูรณ์

แต่การทำเกษตรของพี่น้องเกษตรส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในลักษณะที่เอาเปรียบธรรมชาติ คือเอาผลผลิตออกไปจากแปลงเรือกสวนไร่นาในอัตราเป็นตันๆ แต่ผันปุ๋ยและอาหารกลับมาสู่ดินสู่พืชเพียงไม่กี่กำมือ ซึ่งมีการทำอย่างต่อเนื่องมายาวนานกว่า 20-30 ปี ดินจึงมีแต่สูญเสียแร่ธาตุสารอาหารออกไปแบบไม่สมดุลกับอาหารหรือปุ๋ยที่มนุษย์ให้กลับคืนมา ทำให้ดินขาดแคลนความอุดมสมบูรณ์ ยิ่งปลูกพืชยิ่งอ่อนแอ หมดความต้านทาน หมดภูมิคุ้มกัน ผลผลิตน้อย ต้องซื้อปุ๋ยยาฆ่าแมลงมาใส่เสริมเติมลงไปไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ต้นทุนส่วนใหญ่หมดสิ้นไปกับปัจจัยภายนอกที่ต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มผลผลิต

 การที่จะทำให้อินทรียวัตถุจากโมเลกุลใหญ่ๆ ให้กลายมาเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องมีตัวช่วย คือการนำเอาจุลินทรีย์ท้องถิ่นปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ลงสู่แปลงเรือกสวนไร่นาของท้องถิ่นนั้น  หรือจะเรียกได้ว่าจุลินทรีย์ไทยแลนด์ ลงสู่ แปลงนาไทยแลนด์ น่าจะดีที่สุด จุลินทรีย์ที่ว่านั้นก็คือจุลินทรีย์จากสัตว์สี่กระเพาะ ตั้งแต่ วัว ควาย แพะ แกะ เก้ง กระจง จิงโจ้ เป็นต้น ในกระเพาะของสัตว์เหล่านี้ จะมีจุลินทรีย์ ทั้ง ยีสต์ รา แบคทีเรีย โปรโตซัว ชนิดพิเศษที่สามารถย่อยสลายอินทรียวัตถุ (Organic Matter) ให้เปื่อยยุ่ยเป็นผุยผง สามารถสังเกตมูลวัว มูลควาย เมื่อเขาขับถ่ายออกมา เศษตอซังฟางข้าว เศษต้นไม้ใบหญ้าจะแหลกเละ ละเอียด อันนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากคุณสมบัติพิเศษของจุลินทรีย์ภายในกระเพาะ 3 ห้องแรก ซึ่งก็มีตั้งแต่ ผ้าขี้ริ้ว (Rumen) รังผึ้ง (Reticulum) สามสิบกลีบ (Omasum) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ได้เกิดจากภายในร่างกายของสัตว์  แต่เกิดโดยกระบวนการทางธรรมชาติที่ช่วยให้สัตว์ที่มีสี่กระเพาะหรือกระเพาสี่ห้อง ดำรงชีวิตอยู่ได้ในธรรมชาติ (Symbiosis) ซึ่งกระบวนทั้งหมดจากกระเพาะ 3 ห้องนี้จะทำหน้าที่ในการบดหยาบ บดละเอียด บดผสม ก่อนจะส่งตรงไปยังกระเพาะจริง นั่นก็คือ กระเพาะห้องที่ 4 (Abomasum)

เมื่อเราพอจะทราบว่าในกระเพาะของสัตว์สี่กระเพาะ หรือสัตว์ที่มีกระเพาะสี่ห้องมีคุณสมบัติของจุลินทรีย์ชนิดพิเศษ ที่มีความสามารถในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ (organic acid), เซลลูโลส (cellulose), เฮมิเซลลูโลส (Hemicellulose), ลิกนิน (Lignin) เราก็สามารถนำมูลวัวควายสดมาเพาะเชื้อขยายด้วยจำนวน 2 กิโลกรัม ต่อน้ำสะอาด 20 ลิตร เติมกากน้ำตาลลงไปเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงเชื้ออีก 10 ลิตร  ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก ( ถ้ามีใส่ลงไปจะดี ) เพราะจะช่วยควบคุมจุลินทรีย์ตัวร้ายไม่ให้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจุลินทรีย์ขี้ควาย หรือจุลินทรีย์ของสัตว์สี่กระเพาะนี้

 เมื่อเราได้จุลินทรีย์ท้องถิ่นไทย ลงสู้แปลงเกษตรและกองปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกแบบไทย เขาก็สามารถทำงานได้ทันที ไม่ต้องปรับตัว ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่คุ้นเคย ผนวกกับความสามารถในการย่อยสลายเป็นทุนเดิม ทำให้เรามี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ทันต่อการใช้งาน สามารถนำเศษตอซังฟางข้าว เศษกิ่งไม้ใบหญ้าที่ได้จากการตัดแต่งกิ่ง นำมา สับ บด หั่น ย่อย ให้กลายเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย เราก็จะมีปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ประจำเรือกสวน ไร่นา ที่พร้อมเติมลงไปในดินได้ทันที ซึ่งใกล้เคียงกับเศษไม้ใบหญ้าตามป่าเขาลำเนาไพร เมื่อดินได้รับอินทรียวัตถุอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้โครงสร้างดินดี มีค่า พีเอช (PH) มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นบ้านให้ไส้เดือน จุลินทรีย์ ตัวห้ำ ตัวเบียน และแมงมุม ฯลฯ ก็เปรียบได้กับเป็นการคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ

เมื่อการเพาะปลูกบนพื้นที่ดินดี ก็เท่ากับว่าเรามีชัยไปกว่าครึ่ง การเจริญเติบโตของพืชก็สมบูรณ์แข็งแรง ลดการใช้ปุ๋ย ยา ฮอร์โมน ผลผลิตเพิ่ม ถ้าใช้ไปในระดับหนึ่งและมีการบริหารจัดการแร่ธาตุและสารอาหารอย่างเหมาะสม จนดินมีองค์ประกอบครบตามธรรมชาติคือ มีอินทรียวัตถุ 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 25 เปอร์เซ็นต์ อากาศ 25 เปอร์เซ็นต์ และอนินทรีย์ หินแร่ อีก 45 เปอร์เซ็นต์ โครงสร้างหรือองค์ประกอบนี้เป็นดินที่พืชสามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องใส่หรือเติมปุ๋ยอีกต่อไป นอกจากได้ประโยชน์ในเรื่องของการลดการเผาตอซังฟางข้าวแล้ว เรายังได้วิถีชนบททำให้พี่น้องเกษตรกรมีวัวควายไว้ใช้แรงงาน ช่วยให้ต้นทุนลดลง มีกำไรที่เป็นตัวเงิน และกำไรชีวิตได้อย่างแท้จริง