เนื้อหาวันที่ : 2015-09-15 11:32:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1861 views

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่สดใส เติบโตไม่เกิน 2%

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 จะมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก ตลอดทั้งปีเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวไม่เกิน 3% ของจีดีพี

จุรีรัตน์ ทิมากูร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ต่ำกว่าครึ่งแรกของปีนี้ โดยขยายตัวลดลงโดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากการส่งออกหดตัว โดยครึ่งปีหลังคาดว่าจะติดลบร้อยละ 1.3 และคาดว่าทั้งปีจะติดลบร้อยละ 1.7

ทั้งนี้แม้ว่าภาครัฐจะเร่งการลงทุนเพียงใด คงไม่สามารถเข้าทดแทนการหดตัวของภาคส่งออกได้ โดยการบริโภคภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐในครึ่งปีหลังจะขยายตัว ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 15.3 โดยสัดส่วนการลงทุนภาครัฐมีเพียงร้อยละ 20-22 ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึง ร้อยละ 74-75 ของจีดีพี

รมว.คลัง ยังได้กล่าวอีกว่า “รัฐบาลจะยังเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 ในโครงการบริหารจัดการน้ำและถนน มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ลงนามในสัญญาแล้ว 60-70 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าโครงการ คาดจะสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือนสิงหาคม ส่วนปีหน้ารัฐบาลได้อนุมัติแผนลงทุนมอเตอร์เวย์ 3 สาย และโครงการรถไฟฟ้าอีก 2-3 สาย ซึ่งถือว่าเต็มที่แล้ว ถ้าเร่งให้มีการใช้จ่ายภาครัฐมากกว่านี้เครื่องยนต์อาจพังได้”

ยอดผลิต-ขาย-ส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์ร่วง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เผยว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.3% อยู่ที่ 56,939 คัน ซึ่งเป็นการลดลง 23 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน ก.ค.2556 ประกอบกับยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนนี้ยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.17% อยู่ที่ 88,937 คัน และลดลง 26.94% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2558

ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังไม่ฟื้นตัว การลงทุนและเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐยังไม่มากพอ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน (สง.) ยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพราะกังวลเรื่องตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สะท้อนได้จากยอดปฏิเสธคำขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สูงถึง 40-50%

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สอท.อยู่ระหว่างพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐยังไม่เป็นไปตามที่คาด อีกทั้งปัญหาภัยแล้งยังซ้ำเติมกำลังซื้อในประเทศให้ชะลอตัวลง เพื่อประกอบการทบทวนตัวเลขคาดการณ์ยอดขายในประเทศปีนี้ทั้งปีอีกครั้ง จากปัจจุบันคาดไว้ที่ 8.5 แสนคัน ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 9.3 แสนคัน ส่วนการผลิตรถยนต์เดือน พ.ค.2558 มีทั้งสิ้น 135,045 คันลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.76% เนื่องจากยอดขายในประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจภายใประเทศที่ยังไม่ฟื้น

“การส่งออกรถยนต์กระบะที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกรถในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 88,937 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 6.17% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นรถกระบะของรถยี่ห้อหนึ่ง หลังจากไม่ได้เปลี่ยนรุ่นมานาน 10 ปี ส่งผลให้การส่งออกรถกระบะลดลง โดยมีมูลค่าการส่งออก 43,548.70 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 4.39” นายสุรพงษ์ กล่าว

ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยต่ำสุด รอบ 1 ปี  แนะชะลอปรับค่าแรง

ขณะที่ ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนพฤษภาคม 2558 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 85.4 โดยเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันและเป็นค่าดัชนีฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 1 ปี นับตั้งแต่ พ.ค. 2557 ที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 85.1

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าดัชนีฯ ให้ลดต่ำลงเนื่องจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกชะลอตัว และปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ

รวมถึงกังวลต่อการที่สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองไทยกรณีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการส่งออกช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าบทบาทของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัว ขณะเดียวกันโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงงาน จะช่วยขยายโอกาสทางการตลาด และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก แบ่งออก พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2558 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายน

ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 102.1 ในเดือนเมษายน โดยพบว่า 3 เดือนข้างหน้าเอกชนมีความวิตกปัจจัยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ระดับราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เพิ่มขึ้น มีเพียงปัจจัยผลกระทบจากการเมืองในประเทศ และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความกังวลน้อยลง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเสนอต่อภาครัฐให้มีการส่งเสริมโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อจูงใจให้เข้าระบบภาษีและขยายฐานภาษีให้แก่ประเทศ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงหามาตรการเร่งพัฒนามาตรฐานสินค้าไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด เป็นต้น

ทั้งนี้การที่สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ จีเอสพี สินค้าไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้มีการเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างประเทศไปแล้วระยะหนึ่ง ดังนั้นการที่กรีซเลื่อนกำหนดชำระหนี้ และธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด อาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก ประกอบกับสถานะทางการเงินของไทยยังค่อนข้างแข็งแรง เห็นได้จากระดับหนี้สาธารณะที่อยู่เพียง 40% ของจีดีพีเท่านั้น ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนโครงการภาครัฐที่มีความชัดเจน

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรปรับขึ้นเป็นรายจังหวัดภายใต้ดุลยพินิจของคณะกรรมการไตรภาคีในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ไม่ควรปรับขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ และหากจะใช้วิธีการลอยตัวค่าแรงก็ไม่ควรต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเรื่อง “แนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างปี 2559” ของฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 61.32 ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพของแรงงานเท่าเดิม จึงมองว่าควรคงอัตราค่าจ้างไว้ที่ 300 บาท หรือปรับขึ้นแบบลอยตัวตามความสมัครใจของผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลควรชะลอการปรับขึ้นค่าแรงไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค

ศูนย์ทดสอบยานยนต์ เริ่มทดสอบได้ต้นปี 60

นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เผยว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ปี 2558–2562 งบดำเนินงาน 4,536 ล้านบาท บนพื้นที่ศูนย์ป่าราชทินจำนวน 1,200 ไร่ โดยได้รับที่จากกรมป่าไม้จะได้สนามทดสอบ 8 สนาม ทดสอบ 47 มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบการชนของรถด้านหน้าและด้านข้าง การทดลองเข็มขัดนิรภัย

"ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อเร่งจัดทำแผนการของบประมาณจากงบกลางวงเงิน 111 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าชดเชยที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรกว่า 6 ล้านราย คิดเป็นพื้นที่เกษตรกว่า 10 ไร่ วงเงินราว 2 ล้านบาท รวมถึงชดเชยให้แก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อปป.) รวมกับค่าจ้างออกแบบก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ บนพื้นที่ 1,200 ไร่ ที่ ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้สามารถเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวได้ภายใน 3 เดือน" นายหทัย กล่าว

นอกจากนี้ จะเร่งหารือเรื่องการยื่นคำขอแปรญัตติใช้งบประมาณประจำปี 2559 วงเงิน 491.58 ล้านบาท ให้ทันการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำหรับใช้ในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบระยะแรกในส่วนของศูนย์ทดสอบยางล้อทุกประเภท ตามมาตรฐาน UNECE R117 ในปี 2559 แต่หากไม่สามารถยื่นคำขอแปรญัตติต่อ สนช. ได้ทันกำหนด ก็จะเสนอขอใช้งบกลางจากงบประมาณปี 2559 ต่อไป เพื่อให้สามารถเริ่มทดสอบมาตรฐาน UNECE R117 เป็นมาตรฐานแรกได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2560 และคาดว่าสนามทดสอบนี้จะคุ้มทุนภายใน 14 ปี

ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ฯ เติบโตได้ไม่เกิน 2%

นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า การส่งออก 6 เดือนแรกปี 2558 อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่เติบโต คาดว่าทั้งปีจะเติบโตไม่ถึง 2% เพราะปีนี้ ทีวีแอลจี มีการย้ายในส่วนของการผลิตทีวีไปเวียดนาม

อย่างไรก็ตามภาพรวม 6 เดือนแรกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมยังอยู่ในภาวะปกติ เป็นไปตามเทรนด์ของตลาด เพียงแต่กำลังซื้อรวมลดลง ตลาดเดินไปเรื่อย ๆ ไม่คึกคัก เช่นเดียวกับตลาดส่งออกก็ยังไม่ดี

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากที่ฐานการผลิตในประเทศไทยยังผลิตแต่สินค้ารูปแบบเดิม ๆ ทั้งตู้เย็น เครื่องซักผ้าและอื่น ๆ โดยไม่มีสินค้าใหม่ที่ฉีกรูปแบบให้แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเป็นแบบนี้มา 4 ปีแล้ว และไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้มากนัก

ด้านสถานการณ์ตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกยังไม่ดีนัก จึงจำเป็นต้องประคองมูลค่าขายรวมไม่ให้ต่ำลง จากที่มีมูลค่าตลาดรวม 2.2 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี และขายในประเทศราว 5.5 แสนล้านบาทต่อปี ที่จะต้องรักษาระดับนี้ไว้ไม่ให้ต่ำลง

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานเฉพาะด้าน ขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน แต่ก็ยังเป็นการใช้แรงงานที่ไม่ได้อาศัยความรู้มาก

ถูกตัด GSP-เงื่อนไข TPP กรีซ -กระทบส่งออกไทย

แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุ การส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลง -5.01% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกระยะ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 8.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลง -4.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยหรือสภาผู้ส่งออกประเมินสถานการณ์ส่งออกของไทยปีนี้น่าจะติดลบที่ -2% เนื่องจากมีปัจจัยลบ และปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยปัจจัยลบประกอบด้วยสถานการณ์ของกรีซและผลกระทบต่อยูโรโซน ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ดัชนีราคาส่งออกสินค้าเกษตร รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงต่อเนื่อง ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ค่า Terminal Handling Charge (THC) และใบแดงของ ICAO เป็นต้น ตลอดจนประเด็น Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing ที่นำมาถึงการจอดเรือประมงและทำให้เกิดปัญหาต่อปริมาณวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

ส่วนปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วยสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ทั้งการส่งออกโดยตรง และการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการเกษตร สถานการณ์ส่งออกและการค้าชายแดนผ่านแดนที่ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายและออกกฎหมายในการควบคุมการค้าชายแดนอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งจะยิ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการค้าชายแดนในอนาคต ประเทศไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ GSP สหภาพยุโรป และอาจรวมถึง GSP ของสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ไม่สามารถเร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีได้ในช่วงนี้

รวมถึงการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญเพื่อไปใช้แรงงาน วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่สถานการณ์ตลาดเงินก็ส่งผลให้เงินทุนไหลออก และทำให้ค่าเงินบาทผันผวนในช่วงครึ่งปีหลัง

แม้ว่าสถานการณ์ส่งออกจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบนานัปการ แต่ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือผลกระทบจากกรีซต่อระบบเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทย ซึ่งแม้ว่ากรีซจะไม่ใช่ตลาดหลักของไทย มีมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังกรีซในปี 2014 เพียง 131.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 0.06% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังตลาดโลกทั้งหมด แต่การผิดนัดชำระหนี้จนอาจกลายเป็นการล้มละลายของประเทศ จะสั่นคลอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของยูโรโซน และทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกลดน้อยลง จนส่งผลต่อตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งหมด

แม้จะยังไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเท่าไร แต่เชื่อว่าจะทำให้กำลังซื้อของตลาดโลกโดยรวมหดตัวอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อรวมกับความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลกที่อาจเกิดขึ้นจะกลายเป็นอุปสรรคชิ้นสำคัญสำหรับการส่งออกไทยในครึ่งปีหลังนี้

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหากรณีของสหภาพยุโรป ดูเหมือนจะฝากความหวังไว้กับการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเสียงคัดค้านจากบางกลุ่มทำให้การเจรจาล่าช้า และยังไม่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องในขณะนี้ และหากเริ่มดำเนินการเจรจาได้อีกครั้งคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี กว่าจะมีผลบังคับใช้ ก็เกรงว่าไทยเราอาจจะเสียตลาดให้กับคู่แข่งไปอย่างถาวรในหลายกลุ่มสินค้า

ขณะที่การแก้ไขปัญหาฝั่งสหรัฐอเมริกา คงไม่สามารถย้อนกลับไปเจรจาการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา ได้อย่างในอดีต เพราะสหรัฐอเมริกาให้น้ำหนักและความสำคัญกับการเจรจา TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งเป็น FTA มาตรฐานสูง และเป็นหนึ่งในความพยายามสร้าง Global FTA เพื่อทำให้สหรัฐอเมริกายังคงบทบาทสำคัญในการค้าโลกยุคต่อไป ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าทางเลือกหนึ่งเดียวของไทยในการรักษาตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคอเมริกาคือการเข้าร่วม TPP เพื่อให้ยังสามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนกับคู่แข่งอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการเจรจา อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเข้าร่วม TPP ว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และจะเสียประโยชน์ในภาพรวมของประเทศหรือไม่ เพราะการเจรจาระหว่างสมาชิก TPP ในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติว่ามีเงื่อนไขและรายละเอียดความตกลงเป็นอย่างไร จึงยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แต่ทั้งนี้ คนไทยทุกคนต้องเข้าใจเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยว่าท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยของเราต้องพยายามก้าวข้าม Upper Middle Income Trap ให้ได้ และยกระดับตัวเองให้เป็น "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดได้และก้าวไปข้างหน้า โดยมีคุณลักษณะสำคัญหลายอย่างที่เราต้องเป็นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น อาทิ การกำหนดนโยบายของประเทศโดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อ Global และ Regional Value Chain, ลดระดับภาษีศุลกากรทั้งขาออก-ขาเข้าให้ใกล้เคียง “0%”, เร่งรัดและกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา NTBs, NTMs ในประเทศคู่ค้า,ยกระดับไปสู่การผลิตสินค้ามีมาตรฐานสูง ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในตลาดโลกและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่สร้างและประยุกต์ใช้ระบบ Market Intelligent ที่มีประสิทธิภาพ ศึกษาตลาดและพัฒนาสินค้าใหม่ที่ตรงต่อความต้องการของตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

การปรับตัวเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่ เมื่อมองภาพดังนี้จึงกล่าวได้ว่า "ไม่ว่าเราจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ ก็ยังต้องปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางของ TPP แต่หากเราไม่เข้าร่วมใน TPP ไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดสำคัญ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเสียหายมากเกินกว่าจะคาดคิด

พาณิชย์ เดินหน้า ดันส่งออก ถก 4 FTA ช่วยเพิ่มขีดแข่งขัน

สำหรับความคืบหน้าการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยกับประเทศคู่ค้าตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเปิดเจรจาการค้าเสรีกับคู่ค้าใหม่ ๆ และเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอที่ยังคั่งค้างอยู่ ซึ่งกรมเองได้ดำเนินการเจรจาเอฟทีเอในกรอบต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่เพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจา และใช้ประโยชน์จากความตกลงบางส่วนก่อนได้

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกว่ามีเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา 4 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ซึ่งกรมตั้งเป้าหมายจะต้องสรุปผลให้ได้ภายในปีนี้ โดยแบ่งการหารือเช่น ด้านการค้าสินค้าอยู่ระหว่างการหารือสัดส่วนการเปิดเสรีสินค้ากลุ่มแรก ระยะเวลาในการยกเลิกภาษี การวัดมูลค่าการค้า ด้านการค้าบริการและการลงทุนอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการเจรจาจัดทำข้อผูกพัน และประเด็นมูลค่าเพิ่มของสินค้า ความโปร่งใส เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเนื่องทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน กฎหมายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าไปอย่างมาก

ส่วนเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงที่เริ่มเจรจาไปช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำความตกลง โดยครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ เช่น การค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา กลไกการระงับข้อพิพาทและความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยเอฟทีเอฉบับนี้คาดว่าน่าจะสรุปการเจรจาได้ภายในปี 2559

ขณะที่เอฟทีเอไทย-EFTA (สมาคมการค้าเสรียุโรปประกอบด้วยไอซ์แลนด์ ลิกเทนสไตล์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์) และเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) นั้นหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยการเจรจาได้หยุดชะงักออกไปอย่างไม่มีกำหนดมีเพียงแต่การเจรจาระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ทั้งนี้การทำเอฟทีเอของไทยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของการส่งออกและยังช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและสร้างโอกาสและการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมของไทย โดยกรมเองก็ดำเนินการในกรอบที่สามารถทำได้ไม่ได้หยุดการเจรจา อย่างล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย ได้เดินทางไปเยือนอินเดียและได้เชิญอินเดียกลับมาเจรจาเอฟทีเอระดับทวิภาคีกันต่อ ซึ่งเมื่อวันที่ 15-17 มิถุนายนที่ผ่านมาทางอินเดียก็ได้เดินทางมาเจรจาทบทวนความคืบหน้าของการเจรจาที่ไทยและอินเดียหยุดไป เช่น สินค้า บริการ การลงทุน มาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐานที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า และประเด็นด้านกฎหมาย โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้"

นอกจากนี้ยังมีเอฟทีเอที่เตรียมเปิดเจรจา เช่น เอฟทีเอไทย-ปากีสถาน และเอฟทีเอไทย-ตุรกี โดยอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการเปิดการเจรจาและการจัดทำร่างกรอบการเจรจาเพื่อขอความเห็นชอบ

ส่วนเอฟทีเอในกรอบอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีลงทุนและเปิดเสรีเพิ่มเติมด้านการบริการ มีเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2559, เอฟทีเอ อาเซียน-จีน อยู่ระหว่างเจรจายกระดับความตกลงเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการมากขึ้น ร่วมทั้งการลงทุนให้เสร็จภายในปีนี้

ขณะที่เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงการค้า บริการและการลงทุน โดยการบริการอยู่ระหว่างการยื่นข้อเสนอครั้งสุดท้ายโดยเปิดตลาดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% และบางสาขาเปิดถึง 70% เช่นก่อสร้าง สวนสนุก เป็นต้น ซึ่งมีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ที่ดิน สัดส่วนการบริหาร ทุนขั้นต่ำเป็นต้น ซึ่งจะต้องเจรจาเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดสินค้าบริการและการลงทุนเพิ่มเติมด้วย ส่วนเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างการเปิดเสรีเพิ่มเติม

ส่งออกผวาไม่ต่อ GSP สหรัฐ หวั่นถูกตัดสิทธินาทีสุดท้าย

นายแพทริค เมอร์ฟี่ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เข้าพบ และหารือกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ถึงการขยายการค้า การลงทุนในไทยเมื่อ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการนี้ได้แจ้งข่าวว่าร่างกฎหมายต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แก่ประเทศกำลังพัฒนาของสหรัฐฯ (ที่ได้หมดอายุลงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2556)ได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน ขณะนี้รอรัฐสภาสหรัฐฯให้ความเห็นชอบ

ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) หรือสำนักงานทูตพาณิชย์ไทย ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เผยถึงความคืบหน้าว่า หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐฯได้ผ่านกฎหมายต่ออายุจีเอสพีแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯก็ได้พิจารณากฎหมายต่อจีเอสพีเช่นกัน และได้ผ่านกฎหมายฉบับของตนเองด้วยคะแนน 397 ต่อ 32 เสียง

สำหรับกฎหมายต่ออายุจีเอสพีของทั้ง 2 สภามีเนื้อหาสาระส่วนใหญ่คล้ายคลึง แต่แตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการจีเอสพี ซึ่งฉบับของสภาผู้แทนฯไม่ต้องการใช้ประมาณรัฐมาดำเนินการ หรือการหารายได้มาใช้ในการบริหาร ดังนั้นกฎหมายจึงยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

อย่างไรก็ดีคาดว่าสภาจะสามารถแก้ไขข้อแตกต่างได้โดยเร็ว และนำเสนอต่อ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ก่อนปิดสมัยประชุมสภาในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 นี้

ขณะที่ นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก บอกว่าหากสหรัฐฯ ใช้เกณฑ์คุณสมบัติของประเทศที่อยู่ในข่ายยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) โดยหนึ่งในหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือระดับการพัฒนาประเทศ โดยพิจารณาจากรายได้ต่อหัวประชากรของธนาคารโลกปี 2553 กำหนดไม่เกิน 12,196 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปีเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันไทยไม่ถือเป็นประเทศยากจน จะต้องถูกตัดสิทธิ ซึ่งไทยก็อยู่ในข่ายนี้ โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Countries)

ทั้งนี้หากยึดตามเกณฑ์เดียวกับอียูไทยคงไม่ได้ต่อจีเอสพีสหรัฐฯ ยกเว้นจะมีการเจรจากันเป็นพิเศษ ดังนั้นโอกาสได้หรือไม่ได้ตอนนี้อยู่ที่ 50: 50 หากได้ต่อก็ดี แต่คงไม่ช่วยให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯปีนี้ขยายตัวมาก เพราะประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เขาก็จะได้ต่อสิทธิจีเอสพีเช่นกัน ทั้งนี้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯปีนี้น่าจะขยายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วได้ 5% หากเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวดีขึ้นจริง"

ด้าน นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวหากไทยได้ต่ออายุจีเอสพีสหรัฐฯจะมีผลให้ผู้นำเข้าสินค้าไทยได้ภาษีย้อนหลังนับตั้งแค่ถูกตัดสิทธิตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 และเมื่อการได้สิทธิจีเอสพีโครงการใหม่มีผลบังคับใช้สินค้าไทยและสินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิ ในกลุ่มสินค้าที่ยังได้สิทธิจีเอสพีจะได้ลดภาษีเป็น 0% อาจทำให้ส่งออกไปสหรัฐฯได้ดีขึ้น

แต่ระยะต่อไปไทยคงแข่งขันลำบาก เพราะไทยไม่มีการเจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับสหรัฐฯ รวมถึงไม่ได้เข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี)ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน

ลดเป้าส่งออกปี 58 โอกาสติดลบ 3.5%

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่าการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 18,429 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.01% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกระยะ 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม 2558) มีมูลค่า 88,694 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทางสภาผู้ส่งออกจึงประเมินการส่งออกทั้งปี 2558 ว่ามีโอกาสติดลบ 2% จากเดิมที่คาดส่งออกที่ 0% ทั้งนี้ไตรมาส 2 มีโอาสติดลบ 3.5% เนื่องจากการส่งออก 7 เดือนหลังจากนี้ (มิถุนายน-ธันวาคม 2558) ยังอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรสถานการณ์และกฎระเบียบการค้าชายแดน การตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) ปัญหาความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรีต่าง ๆ การย้ายฐานการผลิต เงินทุนไหลออก และความผันผวนของค่าเงินบาท

นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญปัจจัยลบสถานการณ์เศรษฐกิจของกรีซ และผลกระทบต่อยูโรโซน ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ดัชนีราคาส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรลดลงต่อเนื่อง ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

ขณะที่ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดโดยส่วนใหญ่ของไทยยังติดลบ เช่น อาเซียนติดลบ 7.2% ญี่ปุ่นติดลบ 4.1% เกาหลีใต้ติดลบ 15.9% สหภาพยุโรปติดลบ 13.7% ตะวันออกกลางติดลบ 26.9% ทวีปแอฟริกาติดลบ 21.1% ทวีปอเมริกาใต้ติดลบ 2.9% อินเดียติดลบ 9.9% และ CIS ติดลบ 40.7%

สำหรับตลาดส่งออกที่ยังมีทิศทางเติบโต เช่น สหรัฐอเมริกาขยายตัว 0.4% จีนขยายตัว 3.3% ทวีปออสเตรเลียขยายตัว18.2% แคนาดาขยายตัว 2.5% และอาเซียนใหม่ (CLMV) ขยายตัว 3.5% ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ตลาดที่ต้องเฝ้าระวังคือตลาดสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิพิเศษเสรีทางการค้าหรือจีเอสพี หากตัดสิทธิ์จีเอสพีของไทยเหมือนสหภาพยุโรป การส่งออกไทยไปสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับปรับลดลง จากในช่วงที่ผ่านมาส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจึงต้องยกระดับเพื่อการแข่งขันทางการให้มากขึ้น โดยต้องมีการพัฒนาในเรื่องของการลดระดับภาษีศุลกากรทั้งขาเข้า-ขาออกให้ใกล้เคียง 0% เร่งรัดและกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจาการค้าเพื่อแก้ไขปัญหา ยกระดับไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสูง ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในตลาดโลกและเทคโนโลยีที่ใหม่ ๆ รวมทั้งภาครัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดระบบการพัฒนานวัตกรรมที่ก้าวหน้า และระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแรง และการเจรจาการค้าต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น

ส่วนสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU คาดว่าประเทศไทยยังคงได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีการประกาศในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งประเทศไทยไม่น่าจะได้รับใบแดงเพราะการดำเนินการของไทยที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องติดตามสถานการณ์เพราะหากประเทศไทยติดใบแดงโอกาสกระทบขยายตัวเป็นวงกว้าง และขยายตัวลุกลามไปกระทบตลาดสหรัฐด้วย

ด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การส่งออกของไทยในปี 2558 มีโอกาสติดลบ 2% โดยที่การส่งออก 7 เดือนที่เหลือส่งออกจะต้องเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 19,189 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากส่งออกได้ต่ำกว่านี้มีโอกาสที่การส่งออกภาพรวมจะติดลบมากกว่านี้ สำหรับแนวโน้มการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2558 ประเมินว่ามีโอกาสส่งออกติดลบ 5-6% จากปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำสุดกระทบต่อการส่งออกไทย

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีของไทยน่าจะเฉลี่ยในระดับ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าการส่งออกไทยสามารถรับได้

ส่งออกไทยไปจีนทรุดต่อเนื่อง ติดลบ 14% ไตรมาสแรก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดเผยถึงการค้าระหว่างประเทศของจีนในเดือนมีนาคม 2558 ลดลง 13.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 1.76 ล้านล้านหยวน (286.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกันของปีนี้

จากก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ลดลง 11.3 และ 10.8% ตามลำดับ ขณะที่ช่วงไตรมาสที่ 1/2558 การค้าระหว่างประเทศของจีนลดลง 6% โดยมีมูลค่า 5.54 ล้านล้านหยวน โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.9% และการนำเข้าลดลง 17.3%

ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปี 2558 ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน โดยมูลค่าการค้าลดลง 2.1% สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับ 2 มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 3.2% ตามด้วยญี่ปุ่น มูลค่าการค้าลดลง 11% โดยโฆษกของกรมศุลกากรจีนให้เหตุผลของการค้าระหว่างประเทศของจีนที่ลดลงว่า เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยับคงอ่อนแอ และความกดดันเศรษฐกิจในประเทศจีนกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว

ประกอบกับช่วงวันหยุดตรุษจีนของปีนี้ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้บริษัทและโรงงานหลายแห่งต้องปิดทำการเป็นสัปดาห์ ในขณะที่วันตรุษจีนของปีที่ผ่านมาตรงกับเดือนมกราคม ทำให้ต้องเปรียบเทียบกับฐานคำนวณตัวเลขที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรกของปีนี้จีนยังเกินดุลการค้าถึง 755.3 ล้านหยวน

ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) จีนยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้า (ส่งออก+นำเข้า) ระหว่างกัน 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกมูลค่า 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 14.4% นำเข้ามูลค่า 9.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจีน 4.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปจีนประกอบด้วย เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ยางพารา, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ โดยมูลค่าการส่งออกไปจีนของแต่ละสินค้า -2.01, -11.32, -43.42, +3.19  และ -29.72% ตามลำดับ

กกร. ระบุ เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กกร. ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคม พบว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเครื่องยนต์ด้านการบริโภคยังพบสัญญาณการฟื้นตัวในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวยังคงรักษาโมเมนตัมเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง การลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายได้มากขึ้นและมีแนวโน้มเร่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้นในไตรมาส 3 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแรงตามความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง  กอปรกับการส่งออกสินค้าหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า แม้จะยังคงรักษาขยายตัวในเกณฑ์ดีในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลียได้ต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนยังคงเปราะบางในช่วงครึ่งปีหลัง

กกร. ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้สาธารณะในประเทศกรีซ รวมทั้งการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ที่อาจเป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในระยะถัดไป ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าผลการตัดสินใจผ่านการทำประชามติของกรีซจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและภาคส่งออกไทยเพียงแค่ในระยะสั้น ดังนี้

1.ค่าเงินบาท–ผลกระทบในช่วงสั้นจะเป็นการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินตราของประเทศต่าง ๆ เนื่องจากถือเป็นค่าเงินที่มีความปลอดภัยสูง (Safe Haven) จากภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวและความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ในส่วนขณะที่ค่าเงินยูโรเองในช่วงที่ผ่านมาถือว่ารับข่าวร้ายเรื่องกรีซไปแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นค่าเงินบาทซึ่งถือว่าเป็นสกุลเงินที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ อาจถูกแรงขายและทำให้อ่อนค่าลงได้ในระยะสั้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร อย่างไรก็ตาม ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นและไม่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปได้มากในระยะยาวจากเหตุการณ์ดังกล่าว

2.ตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลไทย อาจประสบแรงขายอีกครั้งเพื่อปรับลดความเสี่ยงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของกรีซ ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับลดลงทั่วทั้งภูมิภาคในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนในสถานการณ์วิกฤติกรีซ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างประเทศได้ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นไทยไปแล้วจากช่วงต้นปีกว่า 7 หมื่นล้านและ 2 หมื่นล้าน ตามลำดับ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดจากเงินทุนไหลออกฉับพลันจากตลาดไทยนั้นคงมีแค่ในวงจำกัด

3.ด้านภาคการค้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มาก เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของไทยกับกรีซในปี 2558 มีเพียง 45 และ 131 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าส่งออกหลักไปกรีซ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและรถยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.43 และ 0.06 ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย จึงคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง ว่าจะส่งผลในวงกว้างต่อการฟื้นตัวของคู่ค้าอื่น ๆ ของไทยในกลุ่มยูโรโซน (สัดส่วนส่งออกร้อยละ 6) มากน้อยขนาดไหน

4.ด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มากเช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวจากกรีซที่มาไทยในปีที่ผ่านมามีเพียงร้อยลง 0.08 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดหรือราว 20,000 คนต่อปี เท่านั้น อีกทั้ง ไทยยังได้หันมาพึ่งพิงนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและอาเซียน จึงทำให้ความเสี่ยงในด้านการท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ กกร. คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ลดลงจากการคาดการณ์ในไตรมาสที่แล้วที่ร้อยละ 3.5 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ปรับลดมุมมองเศรษฐกิจลงมาจากตัวเลขส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ทำให้ส่งออกมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 2 ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1

พร้อมกันนี้ กกร. สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ...เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมศุลกากรได้ดำเนินการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.....เพื่อแก้ไขในประเด็นต่าง ๆ ที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ และขัดกับการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ กกร. มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย และเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น และมีการแก้ไขในหลายประการที่สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้นำเข้า-ส่งออก เช่น การแยกฐานการกระทำความผิดตามมาตรา 27 เดิม ออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ การลักลอบหนีศุลกากร (ขนของเถื่อน) การหลีกเลี่ยงอากร (แจ้งพิกัดศุลกากรผิด) และการหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด (ผิดพลาดทางเทคนิค)

รวมทั้งปรับปรุงอัตราโทษให้สอดคล้องกับฐานความผิดนั้น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอจุดยืนของ กกร.ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งยังขจัดอุปสรรคหลายประการที่มีความล้าสมัย และเพิ่มศักยภาพในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้าน Ease of Doing Business อันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในระยะยาว และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน โดยร่างพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ครม. ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 กำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปี  หรือมีข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

กกร.สนับสนุนร่างพระราชกฤษฎีกา และเห็นว่าควรมีผลบังคับใช้ให้เต็มที่เพื่อให้มีการทบทวนแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจสังคม กกร. จะจัดสัมมนาเรื่องพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงหลักการโดยรวมของพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.....ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายไม่นานต่อจากนี้

และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนของการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.....ด้วยกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่สร้างระบบหลักประกันขึ้นเพิ่มเติมจากหลักประกันประเภทการจำนองและการจำนำ โดยเป็นกฎหมายที่รองรับการนำทรัพย์สินอื่น ๆ มาเป็นหลักประกัน ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสามารถใช้สอยทรัพย์สินต่อไปได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ไว้ต่อผู้รับหลักประกัน ทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ใช้เป็นหลักประกันตามกฎหมาย เช่น วัตถุดิบ สินค้าในคลังสินค้าสิทธิเรียกร้อง

รวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการในการบังคับหลักประกันที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากการบังคับหลักประกันโดยทั่วไปและจะเป็นช่องทางใหม่ให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ กกร. หารือผลการสำรวจทัศนะจากหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2559 และเห็นว่าไม่ควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ และควรให้ “คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด” พิจารณากำหนดการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามสภาพข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจและสังคมและความจำเป็นของแต่ละจังหวัด โดยไม่ต่ำกว่า 300 บาท/วัน