เนื้อหาวันที่ : 2007-07-06 18:39:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1530 views

หอการค้าไทยปรับจีดีพีปี 50 ใหม่ คาดโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4

ครึ่งปีหลังไทยเจอศึกหนักเศรษฐกิจชะลอตัวและบริโภคอืดถึงไตรมาส 4 ของปี ส่งผลต่อรายได้และกำไรผู้ประกอบการ ความเชื่อมั่นภาคการลงทุนยังต่ำ เพราะต้องการรอดูความชัดเจนของการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ยังไม่ได้ข้อยุติ รวมถึงเสถียรภาพทางเมืองยังเบาะบาง

ครึ่งปีหลังไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบในเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเศรษฐกิจของสหรัฐมีอัตราเสี่ยงสูง เพราะประสบปัญหาขาดดุลการค้าถึงร้อยละ 7 โอกาสฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์มีมาก การตรึงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.25 จะส่งผลต่อการค้าของโลกและตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงได้ ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงและผันผวน

.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจทิศทางธุรกิจไทยครึ่งปี 2550 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ทางศูนย์ฯ จึงได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2550 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.5 - 4.0 เป็นร้อยละ 4.0 - 4.5 เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายประการ ได้แก่ แรงขับเคลื่อนของการส่งออกยังสูง และการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านการลงทุนและมาตรการต่าง ๆ เป็นรูปธรรม แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงและทั้งปีน่าจะขยายตัวร้อยละ 2 แสดงถึงอำนาจซื้อของประชาชนลดลงไม่มาก อัตราการจ้างงานยังอยู่ในระดับสูงและอัตราการว่างงานต่ำไม่เกินร้อยละ 2 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.5 หรืออาจปรับลดลงร้อยละ 0.25 เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศหลักอย่างจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย การส่งออกมีโอกาสขยายตัวได้ตามเป้าหมายกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 12.5 แม้ค่าเงินบาทแข็งแต่อำนาจซื้อในอาเซียนยังสูงและค่าเงินแข็งใกล้เคียงกัน

.

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบในเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเศรษฐกิจของสหรัฐมีอัตราเสี่ยงสูง เพราะประสบปัญหาขาดดุลการค้าถึงร้อยละ 7 โอกาสฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์มีมาก การตรึงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.25 จะส่งผลต่อการค้าของโลกและตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงได้ ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงและผันผวน โดยโอกาสราคาในประเทศจะเพิ่มอีก 1 บาท/ลิตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบปีนี้อยู่ระดับ 65-68 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เกินคาดการณ์เดิมซึ่งอยู่ระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและเพิ่มความระมัดระวังใช้จ่าย การบริโภคภายในประเทศยังมีทิศทางชะลอตัวถึงไตรมาส 4 ของปี ส่งผลต่อรายได้และกำไรผู้ประกอบการ ความเชื่อมั่นภาคการลงทุนยังต่ำ เพราะต้องการรอดูความชัดเจนของการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ยังไม่ได้ข้อยุติ รวมถึงเสถียรภาพทางเมืองยังเบาะบาง

.

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่าผลคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสำรวจนักธุรกิจ 600 รายช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นว่าไตรมาส 3 ปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำสุดระดับร้อยละ 3.5 - 4 และเริ่มฟื้นตัวเมื่องบประมาณเข้าสู่ระบบและความชัดเจนการเลือกตั้งไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า กำลังซื้อในประเทศและการส่งออกยังขยายตัว และเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้ จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งระดับร้อยละ 4 - 4.5 และจะขยายตัวต่อเนื่องไปถึงปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 5 - 6 อีกด้วย

.

รัฐบาลคงต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ควรให้แข็งค่าต่ำกว่า 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 เพราะจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อผลกระทบด้านผลประกอบการและการส่งออกอย่างมาก เพราะทุก 1 บาทของการแข็งค่าจะทำให้เศรษฐกิจลดลงร้อยละ 0.2 - 0.3 โดยค่าบาทแข็งค่าขณะนี้แสดงถึงการมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อไทย เนื่องจากเชื่อว่าอาเซียนจะยังขยายตัวสูงในอนาคต และไทยเป็นประตูเปิดตลาดจีน อินเดีย และญี่ปุ่น การนำเงินเข้าลงทุนในไทยเพื่อไม่ให้ตกกระแสจึงมีมากขึ้น แต่อยากเตือนผู้ประกอบการให้แสวงหาตลาดส่งออกนอกอาเซียนไว้ด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกดดันการแข่งขันในอาเซียนด้วยกันผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าว

.

ทั้งนี้ ผลสำรวจต่อการใช้จ่ายของประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อของตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เพราะสะดวก เป็นแหล่งรวมสินค้าและบริการ โดยซื้อสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันอันดับแรก รองลงมาคือ เสื้อผ้าและสินค้าสุขภาพ ผู้ซื้อจะตัดสินใจอันดับแรกจากคุณภาพสินค้า ตามด้วยราคา ดังนั้น ความจำเป็นต่อการจัดรายการส่งเสริมการขายยังสำคัญโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มคงทนและฟุ่มเฟือยที่ประชาชนจะชะลอการซื้อใน 3 เดือนข้างหน้า โดยอิทธิพลต่อการซื้อยังมาจากโทรทัศน์ เป็นอันดับแรก ตามด้วยหนังสือพิมพ์ และช่วงเวลาหลักของการชมรายการทีวีคือ18.00 - 21.00 น. เป็นสำคัญ

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ