เนื้อหาวันที่ : 2015-08-07 17:37:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1732 views

พัฒนาประเทศไทยสู่รูปแบบ Smart Cities กับ รศ.ดร. เอกชัย สุมาลี

การเติบโตของเมืองใหญ่ในแต่ละประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ความหนาแน่นของการพักอาศัย และสัดส่วนของการอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ในการบริหารจัดการเมืองตามมา ปัญหาในหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ประกอบไปด้วย ปัญหาจราจรที่แออัด ปัญหามลภาวะ ปัญหาความสิ้นเปลืองด้านพลังงาน ปัญหาการจัดการของเสีย และ ปัญหาอื่นๆ ทางสังคม ในยุคทศวรรษที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก และสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ได้เพ่งเล็งถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบต่างๆ ของเมือง หนึ่งในไอเดียสำคัญที่ได้มีการพูดถึง และได้รับความสนใจมากคือ “การพัฒนาเมืองแบบ Smart Cities หรือแบบ นครอัจฉริยะ” หัวใจหลักของการพัฒนาเมืองแบบ Smart Cities คือการปรับใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเมือง โดยที่จะครอบคลุมในด้านการจัดการระบบขนส่ง การสร้างข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจวางแผน การให้ข้อมูลกับประชากร การจัดการระบบพลังงาน การจัดการระบบน้ำ และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของเมือง

รศ.ดร. เอกชัย สุมาลี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจราจรและขนส่งมวลชนและผู้อำนวยการศูนย์ Smart City Research Center (SCRC) ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รศ.ดร. เอกชัย สุมาลี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจราจรและขนส่งมวลชนและผู้อำนวยการศูนย์ Smart City Research Center (SCRC) ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “การปรับใช้ระบบ IT ประกอบไปด้วยการใช้ระบบเก็บข้อมูล (Sensor) ในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภค การดำรงชีวิต และสถานภาพของโครงสร้างพื้นฐานในเมือง โดยที่ระบบเก็บข้อมูลอาจจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างโดยเฉพาะในการเก็บข้อมูล เช่น ระบบ Smart meter สำหรับเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในรายละเอียดของแต่ละครัวเรือน หรือ ระบบตรวจจับสภาพจราจรแบบอัตโนมัติผ่านทางกล้อง cctv หรือ เรดาร์ชนิดต่างๆ อีกรูปแบบหนึ่งในการเก็บข้อมูลคือ การใช้ระบบ Crowd-source คือเก็บข้อมูลโดยตรงจากการรายงานของประชากรทั้งในรูปแบบการรายงานโดยตรงจากผู้ใช้ หรือการเก็บข้อมูลของผู้ใช้แบบอัตโนมัติ โดยที่ฐานข้อมูลแบบ Crowd-source นั้นอาจรวมไปถึงข้อมูลจากระบบ Social Network ต่างๆ หรือ การตรวจจับการเคลื่อนที่ของประชากรผ่านทางสัญญาณในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งออกมาจาก Smart Phone ข้อมูลจากรูปแบบดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เรียกว่า Big Data”

รูปที่ 1

องค์ประกอบที่สองในการพัฒนาเมืองแบบ Smart Cities คือการสร้างระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บได้เพื่อหารูปแบบ พฤติกรรมของประชากร และสถานะของโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ปัจจัยต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น จากข้อมูล Social Network ผ่านทาง Twitter หรือ FaceBook ที่เก็บได้ในกรุงเทพฯ ในส่วนของข้อความที่เกี่ยวเนื่องกับความพึงพอใจในการให้บริการของรถประจำทาง ระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถนำข้อมูลจาก Twitter หรือ FaceBook ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ในแบบ Data Mining เพื่อวิเคราะห์ถึงลำดับความสำคัญของปัญหาการให้บริการรถประจำทางที่มีการพูดถึงเยอะที่สุด โดยที่กรรมวิธีดังกล่าวนั้น จริงๆ แล้วได้ถูกปรับใช้ตลอดจากผู้ให้บริการ Social Network และ Search Engine ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงในการค้นหา หรือการลงข้อความเพื่อระบุชนิดการบริการ หรือ สินค้าต่างๆ ที่จูงใจผู้ใช้ระบบในขณะนั้นมากที่สุด การพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นการสร้างคลังสมองเพื่อเพิ่มความเข้าใจของรูปแบบการใช้ชีวิต และความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานจากข้อมูลจริงๆ เช่น จากระบบดังกล่าวเราอาจจะสามารถวิเคราะห์ได้ถึงต้นเหตุของปัญหาจราจรในพื้นที่ต่างๆ ว่าทำไมทุกคนถึงเดินทางมาในบริเวณนั้นๆ ในช่วงเวลาเร่งด่วน และ นำไปสู่การวางแผนจัดการระบบขนส่งให้ตอบโจทย์ความต้องการในการเดินทางเพื่อบรรเทาปัญหาจราจรได้ อีกตัวอย่างเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน จากข้อมูลที่ได้จากระบบ Smart Meter การวิเคราะห์ข้อมูลอาจบ่งชี้ถึงพฤติกรรมการใช้พลังงานของครอบครัวต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันเพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานในระยะยาว

ส่วนสุดท้ายในการพัฒนาเมืองแบบ Smart Cities คือองค์ประกอบในการจัดการ หรือ บริหารเมือง ซึ่งจะเป็นการปรับใช้ผลในการวิเคราะห์ในการควบคุมจัดการโครงสร้างพื้นฐาน หรือ พฤติกรรมต่างๆ ของประชากร ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ระบบสัญญาณไฟจราจร ถ้าระบบมีความเป็นอัจฉริยะหลังจากได้รับข้อมูลกระแสจราจร และความแออัดในถนนต่างๆ ระบบวิเคราะห์จะสามารถระบุถึงการปรับเปลี่ยนระยะเวลาสำหรับสัญญาณไฟที่จุดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางในการเดินทาง และความแออัดในพื้นที่ต่างๆ ได้ทันท่วงที หรือ อาจจะเป็นการจัดการในรูปแบบการให้ข้อมูลกับทางประชากรถึงสถานะปัจจุบันของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับพฤติกรรมได้

“การพัฒนาเมืองแบบ Smart Cities ถือว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่ภาคเอกชนที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญ จากข้อมูลเบื้องต้นบริษัทด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากทั้งในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือ ยุโรป ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างสินค้า และโอกาสทางธุรกิจในด้าน Smart Cities อย่างดุเดือด โดยบริษัทเหล่านี้เล็งเห็นถึงโอกาสได้การก้าวข้ามภาคธุรกิจเดิมในภาคผู้อุปโภคบริโภครายย่อยไปสู่การให้บริการในด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในกับภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการสร้างฐานธุรกิจและชื่อเสียงของบริษัทในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง นอกจากนั้นแล้วสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบ Smart Cities ยกตัวอย่างศูนย์วิจัย Sensible City ของ MIT ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทยก็ได้มีการให้ความสำคัญโดยทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ หรือ Smart Cities Research Center” ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ ผมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกับพัฒนาในแบบ Smart Cities ว่าเป็นการพัฒนาที่จะช่วยลดความต้องการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเพิ่มความจุในการให้บริการในด้านต่างๆ ของเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบให้ตอบสนองกับความต้องการในการใช้โครงสร้างพื้นฐานของประชากรให้มากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือ การเพิ่มความโปร่งใสในการบริหารจัดการเมือง และการวางนโยบายโครงสร้างพื้นฐานจากฐานข้อมูลที่ได้จากระบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ระบบ Crowd-source based City Infrastructure Management System ที่ทางศูนย์วิจัยกำลังดำเนินการพัฒนาและทดสอบ โดยจะเป็นระบบ Mobile Application ผ่านทั้งระบบ iOS และ Android ที่เปิดให้ทางประชาชนรายงานปัญหาต่างๆ ในเมืองกลับมายังฐานข้อมูลส่วนกลาง เช่น ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปจุดที่มีน้ำท่วมขังเพื่อรายงานพร้อมตำแหน่งมายังฐานข้อมูลส่วนกลาง หรือ สามารถถ่ายรูปเสาไฟแสงสว่างที่ชำรุดพร้อมตำแหน่ง โดยที่ระบบส่วนกลางจะประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนเพื่อผ่านการวิเคราะห์และสรุปสถานะของเมือง และแผนในการบำรุงรักษาเมือง นอกจากนั้นระบบจะส่งผลการปรับปรุงหรือซ่อมแซมกลับไปยังผู้รายงาน นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยมีแผนในการจัดทำ KMITL City Rating เพื่อจัดลำดับคุณภาพชีวิตของเมืองเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริหารท้องถิ่นให้ความใส่ใจในการดูแลรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตในเมือง “รศ.ดร. เอกชัย สุมาลี กล่าวทิ้งท้าย