เนื้อหาวันที่ : 2006-05-22 10:51:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1160 views

กระทรวงอุตฯ ออกโรงแจงสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรม ปี 49

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรม 2548 และแนวโน้ม ปี 2549 โดย ปี 2548 นั้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทั้งปี อยู่ที่ 141.75 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 70 เพิ่มขึ้นจาก 66.1 เมื่อปีที่แล้ว

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรม 2548 และแนวโน้ม ปี 2549 โดยสถานการณ์ในปี 2548 นั้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทั้งปี อยู่ที่ระดับ 141.75 โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 เพิ่มขึ้นจากการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 66.1 เมื่อปีที่แล้ว

.

สำหรับการคาดการณ์ของการขยายตัวของ GDP ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าในปี 2548 จะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 6 ลดลงจากปีที่แล้วที่มีการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในปี 2547 ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีมูลค่ารวม 3.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 19.5 ลดลงจากปีที่แล้วที่มีการขยายตัวร้อยละ 21.8 ส่วนสาเหตุสำคัญของการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.1 เป็นร้อยละ 4.5 เศรษฐกิจการค้าของโลกชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 6.5 ในปี 2548 ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ปัญหาไข้หวัดนกที่ระบาดในวงกว้างหลายประเทศ ผลกระทบของภัยธรรมชาติในภูมิภาค เช่น สึนามิ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในระยะยาว

.

อุตสาหกรรมสำคัญที่ผลักดันการขยายตัวอุตสาหกรรมในปีนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (7.7%) ผลิตภัณฑ์ยาง (6%) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (11%) และปิโตรเคมี (16.6%) โดยเฉพาะยานยนต์ในปีนี้มีการส่งออกมากกว่า 3 แสนล้านบาท และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรวมกันมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท

.

ด้านการการลงทุน มูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนตลอดทั้งปี 2548 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 700,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 มูลค่าการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 10 เดือนแรก เท่ากับ 458,000 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีน่าจะใกล้เคียงกับ 5.55 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติกและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ / เครื่องใช้ไฟฟ้า

.

ส่วนแนวโน้มในปี 2549 ภาคอุตสาหกรรมน่าจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 7 โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ ราคาน้ำมันคาดว่าจะเสถียรภาพมากกว่าปีนี้และอยู่ในระดับที่สูงอยู่ อัตราการขยายตัวการลงทุนในประเทศที่สูงขึ้น รวมทั้งเมกกะโปรเจคของรัฐที่จะเริ่มดำเนินการบางส่วน และปัญหาภาคใต้และปัญหาไข้หวัดนกจะได้รับการแก้ไขและลดระดับความรุนแรงของผลกระทบลงจากปีที่ผ่านมา ภาคการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมคาดว่าน่าจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 19 ในปี 2549 ซึ่ง ใกล้เคียงกับปีนี้

.
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมจะตั้งเป้าการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมไว้ที่ร้อยละ 25 หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 4.1 ล้านล้านบาท ในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากมูลค่าส่งออกประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2548 โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีอัตราการส่งออกสูงได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมีการส่งออกมากกว่าร้อยละ 40 และอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อัตราเติบโตร้อยละ 25-30
.

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเห็นว่า ยังมีแนวทางที่รัฐบาลจะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือ ร้อยละ 7 มาเป็นร้อยละ 8.5 ได้ ซึ่งจะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

.

อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนใน GDP สูง ๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ จะต้องผลักดันให้มีอัตราการเติบโตสูงกว่าที่คาดตามแนวโน้มปกติ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วคาดว่าจะมีโอกาสผลักดันให้เพิ่มขึ้นได้ เพื่อให้การเติบโตในภาคอุตสาหกรรมสูงตามเป้าที่วางไว้