เนื้อหาวันที่ : 2007-07-05 12:19:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2833 views

อุตฯ เก็บเงินค่าปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานนำร่อง นิคมมาบตาพุด

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สูตรการจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ หรือ Emission Charge เบื้องต้นเดินหน้าเก็บจากโรงงานอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษ เริ่มนำร่องที่นิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า โรงกลั่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงงานปิโตรเคมี

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สูตรการจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ หรือ Emission Charge เบื้องต้นเดินหน้าเก็บจากโรงงานอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษ นำร่อง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า โรงกลั่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงงานปิโตรเคมี

.

นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการจัดเก็บค่าปล่อยมลพิษ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำแนวทางการจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ หรือ Emission Charge เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษในระยะยาวได้แล้ว โดยหลักเกณฑ์การคำนวณยึดหลักให้ผู้ที่ก่อมลพิษจะต้องแสดงความรับผิดชอบในการบำบัดหรือกำจัดมลพิษที่ก่อให้เกิดขึ้น ซึ่งได้กำหนดอัตราการจัดเก็บสารก่อมลพิษ ประกอบด้วย ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) จัดเก็บอยู่ที่ 0.5 บาทต่อกิโลกรัมของปริมาณสารที่ระบายออก ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) จัดเก็บอยู่ที่ 1.5 บาทต่อกิโลกรัมของปริมาณสารที่ระบายออก และปริมาณฝุ่นลออกง (P) จัดเก็บอยู่ที่ 2.5 ต่อกิโลกรัมของปริมาณสารที่ระบายออก และรวมกับการจัดเก็บค่าบริหารจัดการตรวจสอบ (Mgt)

.

สำหรับ Mgt จะจัดเก็บตามอัตราแรงม้าของโรงงานที่ประกอบด้วย โรงงานที่มีขนาดไม่ถึง 1,000 แรงม้าจะเก็บ 50,000 บาทโรงงานที่มีขนาด 1,000-4,900 แรงงาน จะจัดเก็บ 100,000 บาท ส่วนโรงงานที่มีขนาด 5,000 แรงม้าขึ้นไปจะจัดเก็บ 200,000 บาท ดังนั้นสมการจัดเก็บจึงสรุปได้ดังนี้ Charge(บาท) = 2.50 P + 0.5 So2+1.50 NOx+Mgt ซึ่งการจัดเก็บจะใช้ปริมาณการระบายสารมลพิษในรอบ 1 ปี โดยค่าการตรวจสอบวัดสารที่ปล่อยออกจะจัดเก็บมาจากสองวิธีคือ จากตัวเลขที่โรงงานแจ้งให้ทราบ โดยผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว หรือ จากการคำนวณค่าระบายมลพิษโดยใช้สัมประสิทธิ์การระบายที่สากลยอมรับ

.

"สูตรนี้เรายึดการเก็บค่าการปล่อยมลพิษจากพารามิเตอร์ที่มีข้อมูลอัตราการระบาย โดยได้นำร่องการเก็บในโรงงานที่มาบตาพุด 4 กลุ่มที่เป็นโรงงานในแหล่งมลพิษหลัก คือ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงงานเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี โรงเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งโรงงานเป้าหมายนี้เมื่อใช้สูตรจัดเก็บดังกล่าวโดยใช้ค่า Mgt คงที่ที่ 100,000 บาทต่อโรงงานสามารถประมาณการรายได้ทั้งในส่วนของพื้นที่มาบตาพุด และนอกมาบตาพุดจะได้ประมาณ 137.5 ล้านบาทต่อปี"

.

ปัจจุบันแนวทาการจัดเก็บดังกล่าวที่นำร่องในมาบตาพุด ได้เปิดให้โรงงานเป้าหมายหลักสมัครใจบริจาคเงินรายปีที่คำนวณจากสูตรการจัดเก็บดังกล่าว ซึ่งดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ.2526 และกรมโรงงานได้จัดตั้งบัญชีโครงการขึ้นรับเงินดังกล่าวพร้อมกับตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ ส่วนการเบิกใช้เงินทางจังหวัดระยองได้ตั้งกองทุนระยองแข็งแรงและกองทุนพัฒนาชุมชน 25 ชุมชน แล้วจัดทำโครงการใช้งานเสนอต่อคณะกรรมการฯ โดยแนวทางนี้จะใช้เวลา 2 ปี ก่อนที่จะประมวลผลเพื่อแก้ไขปรับปรุงต่อไป

.

ทั้งนี้ระเบียบดังกล่าวเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว อนาคตกระทรวงอุตสาหกรรมจะประมาณงานกับกระทรวงการคลังเพื่อให้มีการออกกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อม (Environmental Tax) เพื่อบังคับใช้ต่อไปโดยเงินดังกล่าวต้องจัดสรรไปใช้เพื่อเป็นหลักประกันชดเชยความเสียหายทันทีจากผลกระทบที่มีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชน ประชาสัมพันธ์รณรงค์ทำความเข้าใจในการจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ