เนื้อหาวันที่ : 2015-01-26 16:29:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2256 views

โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์ของ KBS เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว

โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์ของ KBS เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว คาดเพิ่มศักยภาพทำกำไรปี 58 150 ลบ.ก่อนขยับเป็น 220 ลบ.ในปี 59

นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์โรงใหม่ของกลุ่มบริษัท เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟผ.ได้แล้ว ตั้งแต่ 2 มกราคม 2558 คาดปีนี้ จะสามารถรับรู้กำไรเพิ่มเติมจากธุรกิจไฟฟ้าประมาณ 150 ล้านบาท และจะขยับเป็น 220 ล้านบาทในปี 2559


 “COD ของธุรกิจไฟฟ้า ถือเป็นไมล์สโตนที่สำคัญของแผนธุรกิจระยะยาวของกลุ่ม KBS คือการพัฒนา Sugar Energy Complex ซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปี 2559” นายทัศน์กล่าว กลุ่ม KBS มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจ อ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน โดยมีหนึ่งในกลยุทธ์หลักคือการพัฒนาตามโมเดล Sugar Energy Complex คือมีกำลังการผลิตน้ำตาล 35,000 ตันอ้อยต่อวัน โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์ และ โรงงานผลิตเอทานอลขนาด 200,000 ลิตรต่อวัน เพื่อรองรับการผลิตอ้อย 4 ล้านตันต่อปี โมเดลนี้จะทำให้ Economies of scale ทีเหมาะสม มีประสิทธิภาพการผลิตสูง และมีข้อได้เปรียบในเชิงการบริหารต้นทุน และศักยภาพการทำกำไร

 “KBS มองภาพนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ขนาด 35 เมกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยี High-pressure boiler ซึ่งมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงกว่าเทคโนโลยีเดิมมาก” นายทัศน์กล่าวเพิ่มเติม
กลุ่ม KBS ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2555 โดยให้ บจ. ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) ซึ่งเป็นบริษัทลูก 99.9% ของ KBS เป็นผู้บริหารงาน มีงบประมาณก่อสร้าง 1,650 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2555 – 2557 และได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมดเป็นเวลา 8 ปี และลดลงกึ่งหนึ่งต่อจากนั้นอีก 5 ปี KPP ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นสัญญา Firm 22 เมกะวัตต์ และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก (COD) แล้วเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558


โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 35 เมกะวัตต์ จะตอบโจทย์ด้านกลยุทธ์ของกลุ่ม KBS 4 ประการ ประการที่หนึ่ง เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำแก่โรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ประการที่สอง เพิ่มศักยภาพในการทำกำไรให้กลุ่มบริษัท โดยคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 19% และจะสร้างกำไรเพิ่มเติมให้กลุ่มบริษัทในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ (2558) ประมาณ 150 ล้านบาท และปีที่สอง (2559) ประมาณ 220 ล้านบาท ประการที่สาม รายได้และกำไรจากโรงไฟฟ้าค่อนข้างจะมีความมั่นคงไม่ผันผวนตามภาวะเศษรฐกิจ จึงจะช่วยกระจายความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทซึ่งเดิม รายได้และกำไรค่อนข้างผันผวนตามภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นหลัก ประการสุดท้าย โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นฟันเฟื่องสำคัญของ Sugar Energy Complex ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของกลุ่ม KBS ที่ต้องการบริหารจัดการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลและการประหยัดพลังงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย ผลิตภัณฑ์น้ำตาล และผลพลอยได้ ให้สูงที่สุด เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำใน ธุรกิจอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทในที่สุด