เนื้อหาวันที่ : 2014-11-12 12:16:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1687 views

อลิอันซ์ ชี้ประเทศไทยมีสินทรัพย์ครัวเรือนเติบโตเพิ่มขึ้น 2.4 %

อลิอันซ์ รายงานผลสำรวจความมั่งคั่งทั่วโลก ระบุสินทรัพย์เติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี ชี้ประเทศไทยมีสินทรัพย์ครัวเรือนเติบโตเพิ่มขึ้น 2.4 %

กลุ่มอลิอันซ์ เยอรมนี ผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต "รายงานผลสำรวจความมั่งคั่งของโลก" ฉบับที่ 5 ที่สำรวจสถานการณ์สินทรัพย์และหนี้สินของภาคครัวเรือนในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก พบว่าสินทรัพย์ทางการเงินในภาคครัวเรือนทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ในปี 2556 เป็นการเติบโตในอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ส่งผลให้สินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 118 ล้านล้านยูโร (ประมาณ 4,833.28 ล้านล้านบาท)

 การเติบโตดังกล่าวเป็นผลจากการดำเนินงานที่โดดเด่นของตลาดหุ้นในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐและยุโรป โดยมีสินทรัพย์ที่ถูกถืออยู่ในรูปของหุ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 สูงกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่นี่ไม่ได้ยืนยันว่าผู้ออมเงินจะหันมาสนใจลงทุนในตราสารทุนกันอย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นภูมิภาคเดียวที่มีปริมาณเงินทุนใหม่ๆ ถูกอัดฉีดเข้าไปลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่นๆ ขณะที่ชาวยุโรปยังคงเดินหน้าถอนเงินจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง

ภูมิภาคเอเชีย (ญี่ปุ่นไม่นับรวมอยู่ในภูมิภาคเอเชีย) มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 16.8 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าการเติบโตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อเมริกาเหนือที่เติบโตร้อยละ 11.7 ญี่ปุ่นเติบโตร้อยละ 6.1 หรือยุโรปตะวันตกเติบโตร้อยละ 5.2 ในแง่ของการพัฒนาระยะยาว เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ทวีปเอเชียอยู่อันดับที่สองตามหลังเพียงยุโรปตะวันออกโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ13.6 นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก แต่การเติบโตของสินทรัพย์ในเอเชียได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีมากอีกครั้งหนึ่งในปีที่ผ่านมานี่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ไม่ได้รับผลกระทบอะไร และไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากในปีนี้” ศ.ดร.ไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มอลิอันซ์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ อลิอันซ์ อยุธยา กล่าว

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย จากปัจจัยความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลให้การเติบโตของสินทรัพย์ทางการเงินในภาคครัวเรือนของไทยมีอัตราเติบโตต่ำที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2556 สินทรัพย์เติบโตเพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค แม้จะนับรวมญี่ปุ่นเข้าไปด้วยก็ตาม อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สินทรัพย์ทางการเงินในภาคครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 114 พันล้านยูโร (ประมาณ 4,669.44พันล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 59 แต่เมื่อพิจารณาในระยะยาว สินทรัพย์ในประเทศไทยมีพัฒนาการที่น่าประทับใจ โดยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ต่อปี นับตั้งแต่สิ้นปี 2543 เป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน ทวีปเอเชีย (ญี่ปุ่นไม่นับรวมอยู่ในภูมิภาคเอเชีย) มีภาวะหนี้สินส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 ในปี 2556 ขึ้นมาอยู่ที่ 4.3 ล้านล้านยูโร (ประมาณ 176.13 ล้านล้านบาท) สะท้อนว่าอัตราเติบโตของหนี้สินเติบโตเร็วมากในปีที่ผ่านมา แต่ในทางตรงกันข้าม ภาคครัวเรือนของไทยมีการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยภาระเงินกู้ของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 11.4 เท่านั้น หลังจากเคยขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 18.3 ในปี 2555 อย่างไรก็ตามแม้จะมีการยับยั้งชั่งใจในการใช้จ่ายในปีที่ผ่านมา แต่ภาระหนี้สินภาคเอกชนของคนไทยกลับขยายตัวเกือบเป็นสองเท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา ผลจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างก้าวกระโดดในอดีตทำให้สัดส่วนหนี้สินของภูมิภาค ซึ่งก็คือ สัดส่วนของ ภาระหนี้สินต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วไปเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ40 ณ สิ้นปี 2556

สำหรับในบางประเทศอย่างมาเลเซียหรือเกาหลีใต้ สัดส่วนภาระหนี้สินอยู่ในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกา โดยอยู่ที่เกินกว่าร้อยละ 80 ขณะที่ไทยอยู่ที่ร้อยละ 82.3 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา

จากรายงานจะพบว่าสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิทั่วโลก (สินทรัพย์ทางการเงินขั้นต้นหักลบหนี้สิน) มีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลักอยู่ที่ร้อยละ 12.4 ในปี 2556 ในการจัดอันดับประเทศที่ร่ำรวยที่สุด (สินทรัพย์ทางการเงินสุทธิต่อหัว ดูตาราง) บางประเทศมีการเปลี่ยนอันดับกัน โดยส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ญี่ปุ่นลดลงมาสองอันดับ สวิตเซอร์แลนด์ยังคงครองอันดับหนึ่งในตาราง ทิ้งห่างสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับที่ 48 ของโลกที่มีสินทรัพย์ทางการเงินในภาคครัวเรือนต่อหัวสูงสุด โดยมีสินทรัพย์ทางการเงินต่อหัวอยู่ที่ 1,340 ยูโร (ประมาณ 54,886.40 บาท) ตามหลังจีนมาติดๆ แต่อยู่เหนือกว่าประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย

ผลกระทบทางการเมืองมีความชัดเจน ใครก็ตามที่หวังจะให้มีการกระจายความมั่งคั่งเสมอภาคมากขึ้น ไม่ควรที่จะจำกัดการเติบโตของสินทรัพย์โดยการจัดเก็บภาษีและยกเว้นภาษีเท่านั้น แต่ควรจะทำทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อที่จะส่งเสริมการเติบโตของสินทรัพย์โดยรวม ทั้งนี้ เพราะการเจริญเติบโตเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุซึ่งความยุติธรรมทางสังคม” ไฮส์ กล่าว

จำนวนประชากรที่อยู่ในกลุ่มมั่งคั่งระดับล่าง (มูลค่าสินทรัพย์ต่อบุคคลโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 5,300 ยูโร (ประมาณ 217,088 บาท) อยู่ที่ประมาณ 3.5 พันล้านคน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับคงที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหตุผลเบื้องหลังความคงที่ เป็นเพราะแม้ว่าจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน ภายในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ก็มีประชากรอีกกลุ่มที่สามารถยกระดับฐานะตัวเองสูงขึ้น จากมั่งคั่งระดับล่าง สู่กลุ่มมั่งคั่งระดับกลางได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ มาจากภูมิภาคอื่นๆทั่วโลกเกือบ 500 ล้านคน และมาจากทวีปเอเชียถึงกว่า 400 ล้านคน

เมื่อเปรียบเทียบกับตัวบ่งชี้อื่นๆ ตัวเลขนี้ได้ตอกย้ำความจริงว่า หากมองเปรียบเทียบโลกของเราในภาพรวมมีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่สามารถยกระดับฐานะตัวเองให้มีความมั่งคั่งมากขึ้น ดังนั้น ก็อาจสามารถพูดได้เช่นกันว่า แท้ที่จริงแล้ว “ความไม่เท่าเทียมกัน” ไม่ได้อยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น” นายไฮส์ กล่าวสรุป