เนื้อหาวันที่ : 2007-07-03 13:39:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2034 views

มอเตอร์เวย์ไทยได้มาตรฐานโลก ติดอันดับ 3 ผู้เสียชีวิตน้อย

สำนักงานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง เผย มอเตอร์เวย์ไทยทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ประสบความสำเร็จการรณรงค์พฤติกรรมผู้ขับขี่ในช่วงเทศกาล จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุและสภาพความรุนแรงบนทางหลวงพิเศษของประเทศอื่น ๆ ไทยอยู่ในอันดับ 3 ผู้เสียชีวิตน้อยสุด จำนวน 25 ประเทศ

 

.

สำนักงานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง เปิดนโยบายเชิงรุกเดินหน้ายกระดับความปลอดภัยด้านวิศวกรรมบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และหมายเลข 9   หลังประสบความสำเร็จด้านการรณรงค์พฤติกรรมผู้ขับขี่ในช่วงเทศกาล  เผย มอเตอร์เวย์ไทยอยู่ในอันดับ 3 ผู้เสียชีวิตน้อยสุด จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุและสภาพความรุนแรงบนทางหลวงพิเศษของประเทศอื่น ๆ จำนวน 25 ประเทศ    

. 

กรมทางหลวงได้เปิดการจราจรทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ - ชลบุรี) ระยะทาง 83 กม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 และ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (บางปะอิน-บางพลี) ระยะทาง 63 กม. เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 146 กม. ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่มีระดับคุณภาพสูงมากทางด้านวิศวกรรมการทางและวิศวกรรมจราจร เพื่อมุ่งเน้นให้การเดินทางมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และนอกจากจะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้ทางแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่ไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางโดยใช้เวลาน้อยกว่าเส้นทางเลือกอื่น ในปัจจุบันทางหลวงทั้งสองเส้นทางจัดเก็บค่าผ่านทางเฉพาะการเดินทางระยะไกล โดยยกประโยชน์ให้ผู้ใช้ทางบางส่วนที่เดินทางระยะสั้นๆ ด้วยเหตุนี้เองปริมาณจราจรจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิยิ่งทำให้ปริมาณจราจรเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

 .

นายปัญจะ  คุปรัตน์  รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ  กรมทางหลวง  กล่าวถึง นโยบายในภาพรวมของกรมทางหลวงต่อปัญหาอุบัติเหตุทางถนน  ว่า  เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อปริมาณความต้องการในการเดินทางของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น กรมทางหลวง จึงต้องบำรุงรักษาทางให้ได้มาตรฐาน และดำเนินการบูรณะก่อสร้างขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ให้มีช่องจราจรเพิ่มขึ้นจาก 4 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องจราจร   โดยขยายเข้าหาศูนย์กลางเขตทางใน  ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงทางจะต้องมีการจัดช่องจราจรที่แตกต่างไปจากปกติ นอกจากนี้ยังมีการเปิดทางเข้าออกถนนหลักเพื่อให้เครื่องจักรกล รถบรรทุก และคนงาน เข้าทำงานในส่วนที่ขยายช่องจราจรและอาจมีการกองวัสดุต่างๆ ใกล้กับตัวถนน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ทัศนวิสัยไม่ดี ตอนเวลากลางคืนหรือช่วงฝนตก  

 .

 กรมทางหลวง โดยสำนักงานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จึงได้จัดทำ โครงการ ยกระดับความปลอดภัยด้านวิศวกรรมบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงรุกเพื่อสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทางหลวงพิเศษทั้ง 2 เส้นทาง  โดยในระยะแรกจะทำการศึกษาและวิเคราะห์สภาพความรุนแรงของอุบัติเหตุจราจรบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด"

.

 

.

ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตตยะมัลลี  หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  กล่าวว่า ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 หมายเลข 9 จัดอยู่ในอันดับมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก  โดย  The International Road Traffic and Accident Database (IRTAD) ซึ่งเป็นหน่วยงานรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุและวิเคราะห์สภาพความรุนแรงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)  ได้ทำการเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิก และประเทศอื่น ๆ รวม 25 ประเทศ

 .

จากการเปรียบเทียบพบว่ามอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางของประเทศไทย ติดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตบนมอเตอร์เวย์น้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในปี  พ.ศ. 2548  ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 23 คน จากการเปรียบเทียบทั้งหมด 19 ประเทศ  ขณะที่อันดับ 1 คือ ประเทศนิวซีแลนด์ มีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 คน และ อันดับ 2 คือ ประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ มีผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คน ประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตบนมอเตอร์เวย์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2547 (ข้อมูลที่มีการประกาศล่าสุด) จำนวน 5,762 คน อันดับ 2 ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  โดยมีผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2548 จำนวน 662 คน และ อันดับ 3 ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี  โดยมีผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2547 จำนวน 648 คน

 .

และจากการเปรียบเทียบความรุนแรงของอุบัติเหตุบนทางหลวงพิเศษในระดับนานาชาติ โดยใช้อัตราการเสียชีวิตต่อปริมาณการเดินทาง 1,000 ล้านคัน-กิโลเมตร พบว่า ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตต่อปริมาณการเดินทาง 1,000 ล้านคัน-กิโลเมตร เท่ากับ 0.10 ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จากทั้งหมด 18 ประเทศ

.

 

.

ผศ.ดร.สมประสงค์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองทั้ง 2 เส้นทาง คือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ในช่วงระหว่างวันที่ 11-27 มีนาคม 2550 ประเด็นปัญหาที่พบ อาทิ  คันทางมีความลาดชัน ป้ายจราจรชำรุด/เลือนลางและไม่ชัดเจน  เครื่องหมายจราจรบนพื้นทางเลือนลาง บริเวณเขตปลอดภัย (Clear zone) มีอุปสรรคที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่ประกอบด้วย เสาไฟฟ้า ต้นไม้ หลักกิโลเมตร ตอม่อสะพาน และอุปสรรคอันตรายอื่นๆ ไม่มีการติดตั้งราวกันอันตรายและอุปกรณ์กันชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ทางโค้ง สะพาน เป็นต้น ราวกันอันตราย และอุปกรณ์กันชนติดตั้งไม่เพียงพอหรือติดตั้งไม่ถูกต้อง คือไม่ครอบคลุมคอสะพาน และติดตั้งย้อนเกล็ด พื้นผิวถนนชำรุด/ไม่เรียบ/ต่างระดับ เศษวัสดุตกหล่น ฝุ่นจากการก่อสร้างบนผิวถนน  เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันปัญหาหลายๆ อย่างก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

 .

นายสุชาติ ลีรคมสัน ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง กล่าวว่า เรามีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในทุกๆ ด้าน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนบนมอเตอร์เวย์ ทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้มีวินัยและมีสติ และการพัฒนาปรับปรุงถนนให้มีศักยภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยมีนโยบายจะทำควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ได้จัดรณรงค์พฤติกรรมของผู้ขับขี่ภายใต้โครงการ รณรงค์ความปลอดภัยในการเดินทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในช่วงเทศกาลต่างๆขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มครั้งแรก ช่วงวันแม่ 12 สิงหาคม 2549  ต่อด้วยเทศกาลปีใหม่ และ เทศกาลสงกรานต์ ตามลำดับ จากการรณรงค์ดังกล่าวผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจมากโดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันแม่ 12-14 สิงหาคม 2549 เพราะมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางไม่มีผู้เสียชีวิตเลย