เนื้อหาวันที่ : 2007-07-02 16:23:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2291 views

น้ำมันแพง-โลกร้อนต้องเคลื่อนทั้งนโยบายและเทคโนโลยีคู่กัน

ชี้ทางออกวิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อมโลก หน่วยงานวิจัยต้องเร่งทำวิจัยเรื่องพลังงาน ไม่เฉพาะด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องศึกษานโยบายควบคู่ไปด้วย จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ เผย JGSEE เตรียมปรับแนวทางวิจัยและการบริหารหลักสูตรรองรับวิกฤตดังกล่าว เน้นงานวิจัยพื้นฐานคู่ไปกับงานวิจัยประยุกต์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

.

ชี้ทางออกวิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อมโลก หน่วยงานวิจัยต้องเร่งทำวิจัยเรื่องพลังงาน ไม่เฉพาะด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องศึกษานโยบายควบคู่ไปด้วย จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ   เผย JGSEE เตรียมปรับแนวทางวิจัยและการบริหารหลักสูตรรองรับวิกฤตดังกล่าว เน้นงานวิจัยพื้นฐานคู่ไปกับงานวิจัยประยุกต์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และเตรียมผลิตบัณฑิตด้านนโยบายและแผนควบคู่กับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

.

กระแสการตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อน เริ่มเด่นชัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่สหประชาชาติได้ออกมาเปิดเผยรายงานสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ ภาวะโลกร้อน ว่าเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วัฏจักรอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง แบบที่นักวิทยาศาสตร์บางคนเคยเข้าใจ โดยรายงานได้ระบุว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากการใช้พลังงานอย่างฟุ้งเฟ้อ และการกระทำของมนุษย์ ทำให้ทั่วทั้งโลกต่างหันมาใส่ใจกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้รายงานของสหประชาชาติได้ระบุไว้ว่า  ทางออกของวิกฤตภาวะโลกร้อนนี้อยู่ที่ประชากรโลกจะต้องร่วมมือกันใช้พลังงานอย่างประหยัด และเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาพลังงาน ที่ยังคงเป็นวิกฤตซ้ำซาก และดูเหมือนว่าจะสายเกินไปที่จะแก้ไขเสียแล้ว

.

รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร

ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)

.

รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาน้ำมันแพง และภาวะโลกร้อนนั้น นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับการใช้พลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลอยู่บ้างแล้ว แต่เนื่องจากเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน มักมีต้นทุนสูง และการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเชิงพลังงานสูงมาใช้ยังมีอุปสรรคหลายประการ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงนโยบายต่างๆ ที่เอื้อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีประหยัดพลังงานมากขึ้น

.

"จากวิกฤตต่าง ๆ ทำให้งานวิจัยของ JGSEE ต้องปรับแนวทางให้สอดคล้อง เพื่อให้ผลงานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาได้จริงมากขึ้น โดยในส่วนของพลังงานหมุนเวียนนั้น จะมุ่งเน้นด้านพลังงานจากชีวมวล เนื่องจากเป็นประเภทที่มีศักยภาพสูงสุดในบรรดาพลังงานหมุนเวียนด้วยกัน โดยเฉพาะการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล และไบโอดีเซล) โดยหลายประเทศต่างให้ความสนใจศึกษาวิจัยในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน อาทิ ประเทศในแถบอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชีย โดยประเด็นวิจัยที่สำคัญ คือ แนวทางการเพิ่มปริมาณชีวมวล และการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเอทานอล ไบโอดีเซล หรือความร้อนและไฟฟ้า รวมทั้งการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อให้มีการลงทุนและการใช้พลังงานจากชีวมวลคุ้มทุนมากขึ้น พร้อมกันนี้ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้มีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปล่อยมลพิษน้อยลง  หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ตลอดจนเทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่มีผลกระทบในระยะยาว เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร เป็นต้น เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และสถานการณ์โลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

.

.

นอกจากการวิจัยด้านเทคโนโลยีแล้ว งานวิจัยที่ JGSEE กำลังมุ่งเน้นให้มีมากขึ้น คือ งานวิจัยเชิงนโยบาย โดยการวิเคราะห์ศักยภาพของแหล่งพลังงาน และศักยภาพการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมทั้งศึกษาแนวโน้มและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย จากการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนการวางแผนการจัดการพลังงาน ให้มีความมั่นคงและช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนต่อไป อีกทั้งยังมองไปที่งานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง งานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งงานวิจัยขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้เป็นองค์ความรู้สำหรับการสร้างขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว

.

รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่ออีกว่า สำหรับหลักสูตรการรับนักศึกษาปริญญาโท และเอกของ JGSEE ในอนาคต จะมีการปรับปรุงเพื่อให้รองรับกับแนวทางงานวิจัยที่ได้วางไว้ โดยเฉพาะในระดับปริญญาโทจะจัดให้มีการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นความต้องการของอุตสาหกรรม โดยจะไม่เน้นเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่จะให้มีการเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ของพลังงาน การวางแผนพลังงาน และการวิเคราะห์นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้บัณฑิตที่จบไปสามารถทำงานในระดับวิชาชีพที่หลากหลายกว่าเดิม และสำหรับระดับปริญญาเอกยังคงเน้นด้านการวิจัยเทคโนโลยีและนโยบายเหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ตรงกับความต้องการของสังคมมากขึ้น