เนื้อหาวันที่ : 2014-01-09 11:04:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2443 views

ปตท.สผ. เผยความสำเร็จปี 2556 พร้อมแผนการดำเนินงาน 5 ปี

ลงทุนกว่า 2.7 หมื่นล้านดอลล่าร์ ใน 5 ปีข้างหน้าตั้งแต่ 2557-2561ตามแผนกลยุทธ์ ในระยะยาวเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการพลังงานที่สูงขึ้นในอนาคต

นายเทวินทร์ วงศ์วานิชประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยความสำเร็จปี 2556พร้อมกลยุทธ์การลงทุน และแผนการดำเนินงาน 5 ปี ดังนี้

 ความสำเร็จของ ปตท.สผ. ในปี 2556 ที่ผ่านมา
          ในปี 2556 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. เติบโตอย่างมั่นคงในฐานะของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทยมีอัตราการขายปิโตรเลียมสูงถึง 292,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 จากปี 2555 ในปี 2556 มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือ
          - เป็นปีที่ครบรอบ 30 ปีของโครงการเอส 1ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันดิบสะสมได้ในปริมาณ 231 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง ยังทำสถิติผลิตน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 30 ปี ด้วยอัตราการผลิต 37,890 บาร์เรลต่อวัน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556
          - เป็นปีที่ครบรอบการผลิต 20 ปีของโครงการบงกชสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติสะสมได้มากกว่า 3.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และคอนเดนเสทกว่า 112 ล้านบาร์เรล
          นอกจากนั้น แหล่งมอนทาราได้เริ่มผลิตน้ำมันดิบมีอัตราการผลิตประมาณ 10,000 บาร์เรลต่อวัน โครงการซอติก้าอยู่ในระหว่างการเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตก๊าซฯคาดว่าจะเริ่มการผลิตและส่งขายได้ในไตรมาสแรกของปี 2557 นี้
ด้านการสำรวจ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการสำรวจพบปิโตรเลียมในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ และค้นพบก๊าซฯ ในโครงการพม่า เอ็ม 3 

ปตท.สผ.ได้ขยายการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย โดยร่วมกับบริษัท Pertaminaเข้าซื้อบริษัทย่อยของบริษัท Hess Corporation ในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยเสร็จสิ้นการซื้อขายสำหรับโครงการ Natuna Sea Aแล้ว

ด้านการเงิน ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศในการเป็นผู้สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศด้วยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ครบรอบ 20 ปี และประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากตลาดหุ้น เพื่อลงทุนในการแสวงหาพลังงานทั้งภายในและต่างประเทศมีการระดมทุนหลังจากการเสนอขายหุ้น (Initial Public Offering –IPO) ทั้งหมด 3 ครั้ง ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียม ปริมาณการผลิตเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีผลตอบแทนรวมให้แก่ผู้ถือหุ้นในเกณฑ์ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม และค่าเฉลี่ยของตลาดฯ

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ปตท.สผ. ได้จัดทำโครงการปลูกป่าลดภาวะโลกร้อน 200,000 ไร่ ตั้งแต่ปี2556-2563 โดยได้เริ่มการปลูกในปี 2556 ไปแล้วจำนวน 50,000 ไร่ใน 30 จังหวัด นอกจากนี้ ยัง ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูป่าเพื่อการเรียนรู้เชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตั้งอยู่ในอำเภอบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศธรรมชาติ และถือเป็นป่าใจกลางเมืองตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับโครงการที่ร่วมกับกลุ่ม ปตท. เพื่อการก่อตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระยอง (Rayong Institute ofScience & Technology: RAIST) และโรงเรียนวิทยาศาสตร์ระยอง (Rayong Science Academy: RASA) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาศึกษาและมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยอีกด้วย

ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยมาโดยตลอด ส่งผลให้ในปี 2556 ปตท.สผ. มีสถิติในการดำเนินงานโดยปราศจากอุบัติเหตุจนถึงขั้นหยุดงาน(LTIF)และได้รับการจัดอันดับเป็นระดับชั้นนำ (Top Quartile) ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยสมาคมระหว่างประเทศของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผลิต (OGP) รวมถึงได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลในหลายด้าน เช่น
- การได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 องค์กรชั้นนำของประเทศไทยเพื่อเข้ารับรางวัล ‘องค์กรโปร่งใส’ ประจำปี 2555 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
- รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านการรายงานบรรษัทภิบาลต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน จาก SET Awards
 - รางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านนักลงทุนสัมพันธ์ดีเด่นจากการมอบรางวัล SET Awards 2013
- รางวัล Most Organized Investor Relations อันดับที่ 1และ รางวัล Best Strategic Corporate Social Responsibility อันดับ 2 ของประเทศไทยจากการมอบรางวัล 2013 Institutional Investor Corporate Awards ของนิตยสารอัลฟา เซาท์อีสท์ เอเชีย ของฮ่องกง
- รางวัลประกาศเกียรติคุณ 4 รางวัล คือ 
- รางวัลคณะกรรมการแห่งปีดีเลิศ
- รางวัล Hall of Frame สำหรับ บริษัทที่ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็นคณะกรรมการแห่งดีเลิศ 3 ครั้งติดต่อกัน 
- รางวัลคณะกรรมการบริษัทที่มีผลงานดีต่อเนื่อง 


 - รางวัลคณะกรรมการตรวจสอบแห่งปี เป็นครั้งที่ 2
          ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความภาคภูมิใจที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่มีมาตรฐานในด้านต่าง ๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินงานอย่างมีบรรษัทภิบาลตามนโยบายของบริษัท

กลยุทธ์การดำเนินงานของ ปตท.สผ. 
ปตท.สผ. ได้ทบทวนและปรับปรุงแผนกลยุทธ์ในระยะยาว โดยกำหนดทิศทางที่สมดุลทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การผลิต (Big) ปริมาณสำรอง (Long) และผลตอบแทนการลงทุน (Strong) โดยได้ปรับเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตสำหรับปี 2563 จาก 900,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 600,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. ยังเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเพื่อรักษากำลังการผลิต รวมทั้งสำรวจพัฒนาเพิ่มเติมในโครงการต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอัตราส่วนของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่ออัตราการผลิตให้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี และสร้างผลตอบแทนเงินลงทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นอกจากนี้ยังรักษาระดับความน่าเชื่อถือขององค์กรให้อยู่ในระดับเดียวกับของประเทศ

ปตท.สผ. มีแผนที่จะขยายการลงทุนในโครงการใหม่ ทั้งการเข้าซื้อและควบรวมกิจการที่อยู่ในช่วงเริ่มการผลิตหรือในช่วงพัฒนา เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตและปริมาณสำรองได้ทันที รวมทั้ง จะต้องพัฒนาความสามารถขององค์กรในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี ด้านการพัฒนาระบบ กระบวนการทำงาน ด้านบุคลากร และด้านการจัดหาเงินทุน เพื่อให้แผนกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้”นายเทวินทร์กล่าวเพิ่มเติม

แผนการลงทุน 5 ปี (2557-2561) ลงทุนกว่า 2.7 หมื่นล้านดอลล่าร์ตามแผนกลยุทธ์
สำหรับงบประมาณการลงทุน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 - 2561 ของ ปตท.สผ. ซึ่งประกอบด้วย ประมาณการรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) รวมทั้งสิ้น 27,282 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ(สรอ.) เพื่อใช้พัฒนาโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในแต่ละปีมีการจัดสรรงบประมาณ ดังนี้

   
ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนดังกล่าวยังไม่รวมประมาณการเงินลงทุนที่ ปตท.สผ. อาจต้องใช้เพิ่มสำหรับโอกาสทางธุรกิจ

สำหรับในปี 2557 ปตท.สผ.คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยได้ถึง 337,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 16% จากปี 2556 โดยได้ประมาณรายจ่ายรวมของปี 2557ไว้ที่5,507 ล้านดอลล่าร์ สรอ. ซึ่งจะนำไปใช้ในการดำเนินการโครงการในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการผลิต มุ่งเน้นรักษาระดับการผลิต โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพปริมาณสำรองปิโตรเลียมสำหรับการผลิตที่ยั่งยืนในโครงการหลักๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้ โครงการบงกช โครงการเอส 1 โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17 โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี และโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (แหล่งมอนทารา)

ด้านการพัฒนา มุ่งเน้นการบริหารโครงการให้แล้วเสร็จพร้อมดำเนินการผลิตตามแผนงานและงบประมาณ เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทฯ ในอนาคตอันใกล้ จากโครงการหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย 1 และโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) จากแหล่งแคชและเมเปิ้ล (Cash-Maple field)

ด้านการสำรวจ มุ่งเน้นการบริหารจัดการการลงทุนในภาพรวมของโครงการสำรวจต่างๆ เช่น โครงการพม่า เอ็ม 3 โครงการพม่าพีเอสซีจี และอีพี 2โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซและโครงการสำรวจในประเทศออสเตรเลียโมซัมบิก และเคนย่า เป็นต้น ให้มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและการผลิตในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท
        
 
นอกจากความสำคัญด้านการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองซึ่งปตท.สผ. ใช้งบประมาณถึง 40% ของผลกำไรในการดำเนินการแล้ว เรายังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการดูแลสังคมพร้อมทั้งสิ่งแวดล้อม ตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทอีกด้วย โดยปตท.สผ. ได้มีการจัดสรรงบประมาณ 6% ของผลกำไรไปใช้ในการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและอีก4% เพื่อใช้ในการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญอีกด้วย” นายเทวินทร์กล่าวเพิ่มเติม