เนื้อหาวันที่ : 2014-01-06 10:44:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1324 views

รายงานตลาดรับสร้างบ้านปี 2556 และแนวโน้มปี 2557

ปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 ที่ผ่านมา

สรุปสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านปี 56 สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) สรุปความเคลื่อนไหวภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดตลอดทั้งปี 2556 พบว่า
ปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 ที่ผ่านมา โดยประเมินจากกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้แยกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.กลุ่มสมาคมไทยรับสร้างบ้าน 2.กลุ่มผู้ผลิตวัสดุที่ขยายไลน์มาสู่รับสร้างบ้าน 3.กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านทั่วไป (ไม่สังกัดสมาคมหรือชมรมใด) และ 4.กลุ่มสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ทั้งนี้ เมื่อสำรวจในแง่การทำตลาดรับสร้างบ้านของแต่ละกลุ่มธุรกิจ พบว่า 3 กลุ่มแรก หันมาเน้นแข่งขันและขยายตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้คาดว่ามีสัดส่วนการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10-30 ขณะที่กลุ่มสุดท้ายยังคงทำตลาดอยู่เฉพาะกรุงเทพในกรุงเทพฯ เป็นหลัก และเติบโตแบบชะลอตัว นอกจากนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการคือ ในปีนี้ “กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านทั่วไป” หรือที่ไม่สังกัดสมาคมใดๆ เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ประกอบการมากที่สุด ทั้งนี้ เป็นการเข้ามาของกลุ่มทุนในท้องถิ่นหรือผู้ประกอบการรายใหม่ในช่วง 1-3 ปีมานี้ และส่วนใหญ่มีสำนักงานตั้งอยู่ในภูมิภาคหรือจังหวัดสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรชลบุรี ระยอง ประจวบฯ (หัวหิน) สุราฎร์ธานี สงขลา (หาดใหญ่) ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับ ความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ของผู้บริโภค ที่ใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้านในช่วง 4 ไตรมาสปี 2556 พบว่า ไตรมาสที่ 1-3 กำลังซื้อและปริมาณสร้างบ้านโดยรวมทั่วประเทศขยายตัวได้ดี โดยเป็นผลมาจากการแข่งขันกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ทั้งตลาดรับสร้างบ้านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ยกเว้นในบางจังหวัดที่เผชิญกับภัยธรรมชาติหรือน้ำท่วมเป็นบางขณะ ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยมีเฉพาะบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำเพียงไม่กี่ราย ที่ทำการตลาดหรือมีการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ ไม่เติบโตดังที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2556 ปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทั้งนี้เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยกำลังซื้อของผู้บริโภคหรือตลาดรับสร้างบ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ตลาดในเขตกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการต่างประเมินกันว่า ไตรมาสสุดท้ายกำลังซื้อน่าจะเติบโตได้ร้อนแรงกว่านี้ อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ ถือว่าเติบโตได้ถึง 2 หลักหรือในระดับที่สูงกว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ ความผันผวนของต้นทุน การเมือง ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดปีที่ผ่านมา

 ประการสำคัญเป็นเพราะผู้ประกอบการมีการปรับตัวได้ดี ทั้งการขยายตลาดหรือเจาะกลุ่มกำลังซื้อใหม่ๆ การใช้เทคโลยีก่อสร้างแทนการใช้แรงงานมากขึ้น การรวมกลุ่มและคำสั่งซื้อ และการกระจายความเสี่ยงของรายเดิมด้วยการขยายสาขาออกไปในพื้นที่ใหม่ เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเมือง เป็นต้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังใหม่ ที่หันมาสนใจเลือกใช้บริการมืออาชีพหรือบริษัทรับสร้างบ้านเป็นอันดับแรกมากขึ้น ซึ่งต่างจากในอดีตที่ผู้บริโภคมักนิยมเลือกพิจารณาผู้ประกอบการรายย่อยๆ ก่อน ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวนับเป็นโอกาสดีของแบรนด์บริษัทรับสร้างบ้าน ซึ่งเป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือของผู้บริโภค นอกจากนี้ ธนาคารผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน หันมาให้ความสำคัญและเน้นปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มลูกค้าบ้านสร้างเองและรับสร้างบ้านมากขึ้น มีการปรับเงื่อนไขและขั้นตอนบริการ พร้อมๆ กับร่วมมือกับสมาคมและกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัดมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนฐานลูกค้าสินเชื่อปลูกสร้างบ้านมีการขยายตัวออกไปในภูมิภาคตามกัน

แนวโน้มและทิศทางตลาดรับสร้างบ้านปี 57

สมาคมฯ ประเมินว่าทิศทางตลาดรับสร้างบ้านปี 2557 ยังเป็นโอกาสและถือเป็นช่วงขาขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่เน้นบุกตลาดในภูมิภาคหรือต่างจังหวัดเป็นหลัก เนื่องเพราะความนิยมของผู้บริโภคที่หันมาเลือกบริษัทรับสร้างบ้านที่มีมาตรฐานและน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น กอปรกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยๆ ประสบปัญหา และไม่อาจรับงานสร้างบ้านได้โดยตรงกับผู้บริโภค นอกจากนี้ ทิศทางการขยายตัวของการลงทุน ทั้งของกลุ่มทุนขนาดใหญ่และขนาดกลางออกไปในภูมิภาค ส่งผลให้มีการโยกย้ายถิ่นอาศัยของคนในเมืองหลวงออกไปสู่ภูมิภาค และคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง ก็มีการย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมเพราะมีการจ้างงานและได้ค่าจ้างไม่ต่างกัน ทำให้ความต้องการบ้านหรือที่อยู่อาศัยเพิ่มตามมา ทั้งบ้านหลักแรกของคนทำงานรุ่นใหม่ และบ้านหลังที่สองของนักธุรกิจที่ขยับขยายการลงทุนออกไปในต่างจังหวัดทุกภูมิภาค

สำหรับ แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจไม่เติบโตตามกัน เพราะความต้องการของผู้บริโภคหรือตลาดอยู่ในภาวะอิ่มตัว ซึ่งไม่เฉพาะบ้านสร้างเอง แต่รวมถึงบ้านเดี่ยวโครงการบ้านจัดสรรก็ชะลอตัวตามด้วยเช่นกัน เหตุผลสำคัญเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมานิยมเลือกที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมมากขึ้น โดยเฉพาะคอนโดฯ แนวรถไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของเมืองหลวงในทั่วโลก เนื่องจากที่ดินมีราคาแพงและผลของการจราจรที่ติดขัดมาก ดังนั้นในส่วนของผู้ประกอบการที่เน้นทำตลาดอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะมีผู้ประกอบการแข่งขันกันอยู่มากรายและรุนแรง ซึ่งผู้ประกอบการรายที่มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือและสามารถบริหารต้นทุนได้ต่ำที่สุดเท่านั้น จึงจะมีความได้เปรียบและแข่งขันอยู่ได้ สำหรับรายเล็กๆ อาจต้องลดสเกลหรือปริมาณการรับสร้างบ้านลง ด้วยการเลือกเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

สมาคมฯ ประเมินว่าปริมาณ “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2557 นี้คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 80,000 หน่วยเศษทั่วประเทศ โดยเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” จะมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 6-7 หรือประมาณ 4,800-5,000 หน่วยเศษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทเศษ หรือเติบโตกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยร้อยละ 8-10 ทั้งนี้คาดว่าตลาดต่างจังหวัดมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 หรือ 3,300-3,500 หน่วย และสัดส่วนตลาดในกรุงเทพฯ ประมาณร้อยละ 30 หรือกว่า 1,400-1,500 หน่วยเศษ ซึ่งปี 2557 นี้สมาคมฯ คาดว่าบริษัทรับสร้างบ้านแบรนด์ชั้นนำกลุ่ม Top 5 และกลุ่มกลุ่มผู้ผลิตวัสดุที่ขยายไลน์มาสู่รับสร้างบ้าน จะเป็นกลุ่มที่ช่วยกระตุ้นตลาดให้ขยายตัวและมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด โดยเฉพาะแชร์ส่วนแบ่งตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ปีนี้เชื่อว่ากลยุทธ์ทางการตลาดที่มีแนวโน้มนำมาใช้กันมากขึ้น ได้แก่ อีเว้นต์มาร์เก็ตติ้ง และโซเชียลมีเดีย สื่อทีวี ฯลฯ และคาดว่าสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์จะใช้เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคน้อยลง ทั้งนี้ ประเมินว่ากิจกรรมทางการตลาดของกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2557 นี้จะแข่งขันกันคึกคักตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นไป โดยสมาคมไทยรับสร้างบ้าน จะมีการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการขึ้นภายใต้ชื่องาน “ไทยแลนด์ โฮม บิลเดอร์ แฟร์ 2014” ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ 2557 บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ณ อิมแพคเมืองทองธานี และงาน “โฮม โฟกัส” ของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมเป็นลำดับถัดไป นอกจากนี้ยังมีงานอีเวนต์อื่นๆ ที่กลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านไปร่วมออกบูธ ได้แก่ งานบ้านและสวนแฟร์ งานสถาปนิก เป็นต้น

โดยสรุป
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะยังเป็นปัจจัยหรือตัวแปรสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อกำลังซื้อของกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านที่อาจชะลอตัวลง รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่ชะลอตัว อันเนื่องจากภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลง แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านที่มีการปรับตัวมาก่อนหน้านี้หลายๆ ด้าน และผู้ประกอบการกลุ่มวัสดุที่แตกไลน์มาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้านรายใหม่ๆ พร้อมร่วมกันเปลี่ยนตลาดรับสร้างบ้านจากเดิมมุ่งทำตลาดอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่การขยายตลาดออกไปได้ทั่วประเทศ ทำให้ปริมาณและมูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านสร้างบ้านขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน พร้อมๆ กับมีการนำระบบการก่อสร้างสำเร็จรูปจากโรงงานผลิต หรือนำระบบการก่อสร้างระบบแห้งมาใช้มากขึ้น ซึ่งอาจจะมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้แรงงานแบบเดิมๆ แต่สามารถผลิตหรือสร้างบ้านได้จำนวนหน่วยมากขึ้น ที่สำคัญสามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้เป็นที่พอใจ ทั้งหมดเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าตลาดรับสร้างบ้านในปี 2557 จะยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว