เนื้อหาวันที่ : 2013-12-03 16:30:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1687 views

สศอ.จับมือผู้ประกอบการพัฒนา อุตสาหกรรมยางล้อไทยบุกตลาดเออีซี

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งพัฒนาตลาดยางพาราไทยหนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจหวังสร้างมูลค่าเพิ่มตีตลาดส่งออกให้ติด 1 ใน 5 ของโลก โดยเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมยางล้อของไทยยังเติบโตได้อีกในภูมิภาคอาเซียน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งพัฒนาตลาดยางพาราไทยหนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจหวังสร้างมูลค่าเพิ่มตีตลาดส่งออกให้ติด 1 ใน 5 ของโลก โดยเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมยางล้อของไทยยังเติบโตได้อีกในภูมิภาคอาเซียน

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมยางล้อของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมีกำลังการผลิตประมาณ 50 ล้านเส้น โดยในปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 3,483.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับ 7 ของโลก แต่ยังคิดเป็นเพียงร้อยละ 3.89 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในตลาดโลก ข้อได้เปรียบของอุตสาหกรรมยางล้อของไทย คือ มีความพร้อมด้านวัตถุดิบยางธรรมชาติ รวมทั้งตราสินค้า “Made in Thailand” ยังเป็นที่ยอมรับมากกว่าจีนและอินโดนีเซีย อีกทั้งยังมีโอกาสที่สำคัญ คือ ตลาดยางล้อในภูมิภาคเอเชียเติบโตมากขึ้นแต่จุดอ่อน คือ ต้นทุนแรงงานและพลังงานสูงเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญเนื่องจากมีวัตถุดิบยางมากเป็นอันดับ 2 รองจากไทย อีกทั้งมีตลาดภายในที่ใหญ่กว่าไทย นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมยางล้อของไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร คือ ผู้ประกอบการไทยมีเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าสมัย ไม่มีเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการไทยยังขาดความรู้และเทคโนโลยี ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ขาดการวิจัยและพัฒนา ความสามารถด้านการบริหารจัดการ ความสามารถทางด้านการตลาด ความสามารถในการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิต ซึ่งในการเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากยางธรรมชาติให้มากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในด้านต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์ยางล้อไทยในตลาดโลกได้

บริษัท โยโกฮามา ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตและจำหน่ายยางในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง นับได้ว่าโรงงานแห่งนี้เป็นสถานประกอบการในกลุ่มบริษัท โยโกฮามาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นผู้ที่นำยางพาราของไทยไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตยางล้อสำหรับส่งออกสู่ตลาดโลก โดยในอดีตได้ทำการผลิตเฉพาะยางสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสาร ต่อมาได้ทำการขยายกำลังการผลิตยางสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะอีกด้วย และยังได้มีการกำหนดนโยบายการบริหารคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้ง ISO9001 และ ISO14001 อีกด้วย นอกจากนี้ ได้มีการนำเอาระบบการผลิตแบบ Small-Scale ที่เป็นแบบบูรณาการมาใช้เพื่อให้สามารถปรับแต่งได้ (Finely tuned production) อีกทั้งทางบริษัทยังคงมุ่งหน้าพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยางรถยนต์แห่งเอเชียชั้นนำระดับโลก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้มีนโยบายเพื่อเร่งยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราให้มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก