เนื้อหาวันที่ : 2007-06-27 11:55:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1661 views

"รถอัจฉริยะจุฬาฯ" เร่งพัฒนาไม่หยุดยั้งเพิ่มสมรรถนะหวังแชมป์

ทีม "แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น" วิศวะจุฬาฯ เดินเครื่องพัฒนาเพิ่มสมรรถนะรถอัจฉริยะต่อเนื่อง หลังคว้าแชมป์ จากการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 1 หรือ Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2007 คาดหวังพัฒนาเพื่อสาธารณะประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม

 

 .

ทีม "แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น"  วิศวะจุฬาฯ เดินเครื่องพัฒนาเพิ่มสมรรถนะรถอัจฉริยะต่อเนื่อง หลังคว้าแชมป์ จากการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 1 หรือ Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2007  คาดหวังในอนาคตมุ่งพัฒนาเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม ใช้สำรวจพื้นที่อันตราย และช่วยเหลือคนพิการ

.

โดย นายชนินท์ จันมา และนายกมล จึงเสถียรทรัพย์  2 นิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนทีม "แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น" (Jack-O-Lantern)  ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ   จากการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 1 หรือ Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2007 เปิดเผยว่า ภายหลังจากทีมคว้าแชมป์ในรายการนี้ได้แล้ว ทางทีมงานและอาจารย์ที่ปรึกษา ได้เตรียมวางแผนพัฒนาเพิ่มสมรรถนะรถอัจฉริยะคันดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันแชมป์ในปีหน้า สำหรับในการพัฒนารถอัตโนมัติไร้คนขับในลักษณะนี้ คาดว่าจะนำไปสู่การสร้างรถอัจฉริยะ เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งช่วยเหลือคนพิการได้ในอนาคต

.

ภายใต้แนวความคิดในการสร้างรถอัจฉริยะคันดังกล่าว "ชนินท์" ในฐานะตัวแทนของทีม  เปิดเผยว่า ทางทีมงาน ได้เลือกที่จะใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนักเบา เพื่อง่ายต่อการควบคุม จากนั้นจึงทำการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ พวงมาลัยเพาเวอร์ เซ็นเซอร์ กล้องเวบแคม เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์     และเลเซอร์  โดยอุปกรณ์ทั้งหมดจะทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่เขียนโปรแกรมขึ้นมาโดยเฉพาะ และเชื่อมต่อเข้ากับระบบจีพีเอส   เพื่อให้รถสามารถค้นหาสิ่งกีดขวาง และวิ่งตามเส้นทางที่กำหนดได้

.

สำหรับการแข่งขัน Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2007  ได้แบ่งออกเป็น 2 รอบ  ซึ่งรอบแรกมี 20 ทีม และจะได้รับฮาร์ดดิสก์จากบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

.

ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของการแข่งขัน เพื่อนำไปพัฒนารถแข่งของทีม โดยแต่ละทีมจะต้องให้รถวิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ ต้องวิ่งไปให้ไกลและเร็วที่สุด ซึ่ง 8 ทีมที่ทำระยะทางและเวลาได้ดีที่สุดจะผ่านเข้าสู่รอบชิง ส่วนกติกาในรอบชิงชนะเลิศนั้น จะเพิ่มความยากขึ้นอีก คือ   มีทางโค้ง สิ่งกีดขวาง ป้ายและสัญญาณไฟจราจร  หากทีมใดทำระยะทางได้มาก ปฏิบัติตามกฏจราจรได้อย่างถูกต้อง และใช้เวลาน้อยที่สุดจะได้แชมป์ไปครอง ซึ่งทีม "แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น" (Jack-O-Lantern) สามารถคว้าแชมป์ในปีนี้ได้สำเร็จ 

.

"รถคันดังกล่าว เป็นโครงการซีเนียร์โปรเจกต์ ของวิศวะจุฬาฯ ซึ่งเราได้พัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง สมาชิกในทีมเรามี 10 คน และทุกคนได้ร่วมประสานทำงานอย่างจริงจัง จนในที่สุดสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ส่วนการแข่งขันในปีหน้านั้นคาดว่าทางผู้จัดการแข่งขันน่าจะเพิ่มความยากของเส้นทางและเพิ่มความเร็วมากขึ้น ซึ่งเราเองต้องพัฒนา และแก้ไขจุดบกพร่อง เพื่อให้สามารถต่อสู้กับคู่แข่งที่น่ากลัว อย่างเช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ที่มีการพัฒนาสาขานี้มาโดยเฉพาะ"

.

นอกจากนี้    ตัวแทนทีม  "แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น"  ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังมีเด็กไทยอีกมาที่สามารถพัฒนารถอัจฉริยะให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างชาติได้   แต่เนื่องจากที่ผ่านมายังขาดทุนทรัพย์ โดยเฉพาะตัวเซ็นเซอร์ซึ่งมีราคาแพง   ดังนั้น หากภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ได้มีโอกาสเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะช่วยทำให้การพัฒนาก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน