เนื้อหาวันที่ : 2013-10-22 16:42:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2278 views

กลุ่ม ปตท. เดินหน้าขยายสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG รองรับความต้องการต่อเนื่อง

กลุ่ม ปตท. เดินหน้าขยายสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG รองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2560 ซึ่งจะช่วยขยายขีดความสามารถในการนำเข้าก๊าซ LNG ได้มากถึง 10 ล้านตันต่อปี เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองสำคัญของประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว

นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. มีแผนขยายความสามารถของสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Receiving Terminal เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคไฟฟ้าที่ความต้องการสูงขึ้นปีละ 5-6% ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2556 ความต้องการใช้ก๊าซฯ ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ไทยจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งในอ่าวไทยและบนบกรวมกันได้เพียง 3,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เทียบเท่า 78% ของความต้องการ ที่เหลืออีก 22% ต้องนำเข้าจากสหภาพพม่าและนำเข้าจากต่างประเทศในรูป LNG

ก๊าซ LNG จะเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญของไทย และยิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การจัดหาแหล่งก๊าซฯใหม่ๆ ในประเทศทำได้ยากขึ้น และการนำเข้าก๊าซจากประเทศเพื่อนบ้านมีข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นทุกวันทั้งในภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรม และขนส่ง ดังนั้น กลุ่ม ปตท. จึงเร่งเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการจัดหาและนำเข้า LNG ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านการมีสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่สำคัญ” คุณชาครีย์ กล่าวเพิ่มเติม

นายภาณุ สุทธิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดหาบริษัทผู้รับเหมา เพื่อก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG ระยะที่ 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ จากปัจจุบัน 5 ล้านตันต่อปี ขยายเป็น 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงกลางปี 2560 เพื่อรองรับแผนการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า และเสริมความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG คือก๊าซธรรมชาติที่ถูกลดอุณหภูมิลงจนเหลือประมาณ -160 องศาเซลเซียส จนแปรสภาพเป็นของเหลว ทำให้สะดวกต่อการขนส่งไปยังสถานที่ห่างไกลที่ท่อส่งก๊าซฯ ไปไม่ถึง ดังนั้น กระบวนการเก็บรักษาและการขนส่ง LNG จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีพิเศษที่สามารถรักษาอุณหภูมิให้คงสถานะในรูปของเหลวได้ตลอดการขนส่ง และเมื่อต้องการนำก๊าซมาใช้งาน ต้องนำไปผ่านกระบวนการเพิ่มอุณหภูมิเพื่อให้กลับไปสู่สถานะก๊าซอีกครั้ง ซึ่งจากขั้นตอนและกระบวนการทั้งหมดทำให้ LNG มีราคาสูงกว่าก๊าซที่ผลิตได้เองจากอ่าวไทย โดย LNG มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติทั่วไป คือ ไร้กลิ่น ไร้สารพิษ ปราศจากสารกัดกร่อน และมีน้ำหนักเบากว่าอากาศ เมื่อรั่วไหลจะลอยตัวขึ้นไปในอากาศอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการสะสมในพื้นราบ จึงยากต่อการติดไฟ