เนื้อหาวันที่ : 2013-10-03 16:23:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1725 views

เสวนา OIE Forum ปี 2556 Next Generation of Thai Industry อุตสาหกรรมยุคใหม่ ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต

เพื่อนำเสนอแนวโน้มและภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนทิศทางและแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดเวทีเสวนาระดมมุมมองนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาครัฐและเอกชน ร่วมแสดงความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ : Next Generation of Thai Industry “อุตสาหกรรมยุคใหม่” ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต เพื่อนำเสนอแนวโน้มและภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนทิศทางและแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 40% แต่จากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเข้าสู่ AEC ในปี 2558, สังคมสุขภาพ/ผู้สูงอายุ, Global warming, สถานการณ์ด้านพลังงาน, Global Food Supply, นวัตกรรมใหม่ ๆ และปัจจัยภายในที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม Logistic / Supply chain Global standard /กฎระเบียบที่กีดกันทางการค้าอื่นๆ (NTB) กฎหมาย/กฎระเบียบที่ไทยต้องมีการบูรณาการให้เอื้อต่อการลงทุน การรวมกลุ่ม Cluster ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัว ซึ่งบทบาทที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมมี 2 ส่วน คือ 1) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคเอกชนและ SMEs และ 2) การจูงใจให้ประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืนต้องคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาคน ทั้งนี้ แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปี ของกระทรวงอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ในระยะ 5 ปีแรก เป็นการเตรียมความพร้อม สั่งสมความรู้ เรียนรู้ ระยะ 10 ปี เป็นการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และสุดท้าย ในระยะ 20 ปี ก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยว่า การที่โลกมีความผันผวนในทุกมิติโดยเฉพาะทางการเงินของประเทศใหญ่ เช่น อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและจากโครงสร้างของประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกสูง ประมาณ 70% ของ GDP ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติก็จะกระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  นอกจากนี้ไทยยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ผลิตภาพแรงงานต่ำ มีอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง หากจะให้ประเทศเปลี่ยนจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวและการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันรวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การค้าและบริการ จึงควรให้ความสำคัญในการพัฒนา 4 ด้านดังกล่าว โดยเน้นในเรื่องการใช้ทรัพยากรที่ทดแทนได้ และใช้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ (Business  model) มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพ ในขณะที่ภาครัฐควรพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และสร้าง Country brand ให้สินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี บรรจุภัณฑ์ น่าประทับใจ ใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วย รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้และความน่าเชื่อถือของประเทศโดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศทั้งในระดับรัฐบาลและในระดับธุรกิจ

ด้านคุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เครื่องจักรใหม่ที่ประหยัดพลังงาน มีกระบวนการผลิตที่สะอาด พัฒนาระบบ logistic และผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ทั้งนี้หากจะให้ดีที่สุดต้องทำเพิ่มเติมในอีกสองเรื่อง คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกาโลก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เลือกและตัดสินใจซื้อสินค้า

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตต้องสามารถตอบโจทย์ 3 ด้าน คือ 1) การเพิ่มขีดความสามารถภายใต้บริบทของการแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น  เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เราจะสามารถอยู่รอดได้อย่างไร ซึ่งอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสในการแข่งขันทุกอุตสาหกรรมเพียงแต่ต้องเลือกเวทีและสินค้าให้ถูก ความร่วมมือกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ  กลางน้ำ  ปลายน้ำ  เป็นสิ่งจำเป็น  รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ กฎระเบียบ กติกาต่าง ๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น  2)  Global Issue การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องสามารถข้ามเงื่อนไขของกฎระเบียบและมาตรฐานสากลได้ 3)  Local  issue  อุตสาหกรรมต้องอยู่ร่วมกับสังคมให้ได้  หากทำได้จะสามารถลดต้นทุน  ลดความสูญเสีย  และนำไปสู่การแข่งขันที่ดีขึ้น

ดร.สมชาย กล่าวขอบคุณและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่ผู้ประกอบการได้รับจากการสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีข้อมูลนำไปประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจและนำไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป