เนื้อหาวันที่ : 2013-09-25 17:03:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1926 views

ไออีซี เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ จ.ลำพูน ตั้งเป้าปีแรกฟันรายได้ 40 ล้านบาท

ไออีซี เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ จ.ลำพูน ตั้งเป้าปีแรกฟันรายได้ 40 ล้านบาท

บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ ไออีซี ได้ฤกษ์เปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของกลุ่มบริษัทฯ ที่ จ. ลำพูน (โครงการลำพูน 1 และ 2) กำลังการผลิตรวม 2.3 MW ตั้งเป้ารายได้ 40 ล้านบาทต่อปี

ดร. ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานกรรมการของไออีซี เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. ลำพูน เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Photovoltaic (PV) โดยใช้เทคโนโลยี Thin Film ของประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ทีม โซลาร์ จำกัด (บริษัทย่อยของไออีซี) โรงไฟฟ้าดังกล่าวเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2554 แล้วเสร็จในปี 2555 โดยบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นผลให้โครงการดังกล่าวสามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ตั้งแต่ วันที่ 23 กันยายน 2556 เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ จ. ลำพูน (โครงการลำพูน 1 และ 2) เป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและภาครัฐให้การสนับสนุนโดยให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า โครงการจึงให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน โดยโครงการลำพูน 1 และโครงการลำพูน 2 ถือเป็นโครงการด้านพลังงานทดแทนแห่งแรกที่เปิดดำเนินการเป็นปฐมฤกษ์ของกลุ่มบริษัทฯ และในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ ไออีซี จะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. ตาก (โครงการแม่ระมาด) กำลังการผลิต 5.25 MW และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. เชียงใหม่ (โครงการแม่มาลัย 1 และโครงการแม่มาลัย 2) กำลังการผลิต 2 MW ดังนั้น ภายในปี 2556 นี้ ไออีซี จะมีโซลาร์ฟาร์มกำลังการผลิตรวมเกือบ 10 MW สามารถสร้างรายได้รวม 180 ล้านบาทต่อปี

นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ไออีซี ยังได้ร่วมทุนกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ในบริษัท จีเดค จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Municipality Solid Waste) กำลังการผลิต 6.7 MW ที่ อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา โดยบริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานจากเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นระยะเวลา 25 ปีในการกำจัดขยะชุมชนและแปลงวัตถุดิบขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยี Ash Melting Gasification จากประเทศฟินแลนด์อันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศแถบทวีปยุโรป โดยไออีซี คาดการณ์ว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ราวไตรมาสที่หนึ่งของปี 2557

ดร. ภูษณ กล่าวเสริมถึงแนวโน้มธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. ลำพูน ถือเป็น Flagship ของบริษัทฯ เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนกลยุทธ์พลิกฟื้นไออีซี ซึ่งในปี 2557 รายได้กว่าร้อยละ 50 ของบริษัทฯ จะมาจากธุรกิจกลุ่มพลังงานทดแทน (Renewable Energy) สอดคล้องกับทิศทางของไออีซีที่จะพลิกจากการขาดทุนมาเป็นการทำกำไรเต็มตัวในปีหน้า โดยไตรมาสแรกของปี 2557 ไออีซีจะผลิตไฟฟ้าให้ กฟภ. ได้ไม่ต่ำกว่า 16 MW ซึ่ง ไออีซี ยังต้องเดินหน้าแผนขยายธุรกิจเดิม และลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งเราได้ประกาศไปแล้วว่าจะมีการเพิ่มทุนในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อจะระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือ RO เป็นจำนวน 1,074 ล้านบาท บวกกับการขายหุ้นแบบ Private Placement หรือ ขายให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจงอีกจำนวน 900 กว่าล้านบาท ซึ่งหากสามารถจำหน่ายได้หมด ก็จะสามารถผลักดันโครงการต่างๆในปัจจุบันและอนาคตได้สำเร็จตามแผนงานที่วางไว้