เนื้อหาวันที่ : 2013-09-24 02:10:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1695 views

ทีเส็บ ผนึกอาเซียนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าระดับภูมิภาค

ทีเส็บ ผุดโครงการ ASEAN We Stand ผนึกอาเซียนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าระดับภูมิภาค

ทีเส็บ เปิดเกมส์รุกเตรียมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดงาน ASEAN We Stand เป็นเวทีแบ่งปันประสบการณ์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ระดับภูมิภาค พร้อมวางจุดยืนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าแห่งอาเซียน นำผู้แทนหน่วยงานรัฐ-เอกชนจากนานาประเทศ แลกเปลี่ยนมุมมองแนวทางความร่วมมือภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และอนุภาคลุ่มน้ำโขง

นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า “ทีเส็บเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีทั้งในและต่างประเทศ จึงร่วมกับ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ ทิก้า สมาคมการแสดงสินค้าไทย (TEA) การบินไทย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) จัดงาน ASEAN We Stand ขึ้น

โดยโครงการ ASEAN We Stand เป็น การต่อยอดความสำเร็จของโครงการพันธมิตรไมซ์แห่งอาเซียน (ASEAN MICE Collaboration) ที่เป็นโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทย โดยทีเส็บ มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยและของภูมิภาคอาเซียน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์แห่งอาเซียน สู่การเป็นผู้นำระดับโลก โครงการ ASEAN We Stand จึงเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนความร่วมมือและข้อมูลข่าวสารของประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558

โครงการ ASEAN We Stand มีการดำเนินงานโดยนำหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน จำนวนทั้งสิ้น 9 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมหลักที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) GMS Panel Discussion: เวทีแลกเปลี่ยนมุมมองและความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อรองรับ AEC

ประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และสถาบันแม่โขง 2) AEC Networking Reception: การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน ผ่านการนำเสนอภาพรวมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน และสร้างเครือข่ายระดับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และ 3) TCEB’s Dinner Forum: การแถลงภาพรวมและทิศทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของทีเส็บ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีนานาชาติ ซึ่งมีไฮไลต์สำคัญคือการปาฐกถาพิเศษ โดย มร. โจเชน วิทท์ อดีตประธาน Koelnmesse และ UFI ในหัวข้อแนวทางการเติบโตของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าโลก

พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมงานจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ยังมีโอกาสเข้าเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์การจัดนิทรรศการ และการประชุมที่ทันสมัย และยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ด้วยพื้นที่ใช้สอยภายในตัวอาคารกว่า 140,000 ตารางเมตร พร้อมเข้าเยี่ยมชมงาน BMAM & GBR 2013, Constech 2013, World Spa and Well-being 2013

ปัจจุบันอุตสาหกรรมไมซ์ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในฐานะกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทีเส็บมุ่งหวังว่าอุตสาหกรรมไมซ์โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นภาคส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตและสร้างโอกาสทางการตลาดด้วยขนาดของประชากรในอาเซียนที่มีจำนวนรวมมากกว่า 600 ล้านคนเมื่อเปิดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้การค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาคเป็นไปอย่างเสรี การจัดงาน ASEAN We Stand ครั้งนี้ ทีเส็บ จึงหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมกับผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการยกระดับการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าแห่งภูมิภาคนี้ในอนาคต” นางศุภวรรณ กล่าวเสริม          

สำหรับทิศทางการดำเนินงานสำหรับตลาดงานแสดงสินค้าในปี พ.ศ. 2557 ทีเส็บยังคงเดินหน้าแผนภายใต้ กลยุทธ์ขององค์กร คือ Win, Promote และ Develop ซึ่งภายใต้กลยุทธ์ Win: ทีเส็บจะมุ่งเน้นการดึงงานระดับ Mega Event เข้ามาจัดในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการจัดงานในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดโดยเน้นแนวคิด ASEAN Centric เน้นการสนับสนุนตลาดอาเซียนเป็นตลาดหลัก

การดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Promote: ทีเส็บจะเป็นศูนย์กลางของข้อมูลด้านงานแสดงสินค้านานาชาติเน้นการพัฒนา Content Marketing ควบคู่ไปกับการสื่อสารแบบดิจิตอล โดยทีเส็บจะเป็นผู้รวบรวม พัฒนาเนื้อหา ที่ได้รับจากภาคเอกชนและแหล่งข้อมูลสำคัญ ตลอดจนวิเคราะห์แนวโน้ม ทิศทางของการดำเนินอุตสาหกรรมการแสดงสินค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้ข้อมูลในการส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจการแสดงสินค้า

ภายใต้กลยุทธ์ Develop: ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ ทีเส็บจะเร่งดำเนินการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ พร้อมผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบ

ในปี 2556 ประเทศไทยมีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 จำนวน 152,820 คน เติบโตขึ้น 15.68% ทำรายได้ 11,529 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.68% คาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย 172,660 คน สร้างรายได้ 14,100 ล้านบาท เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2556”

ด้านเป้าหมายของอุตสาหกรรมไมซ์ในปี 2557 ทีเส็บตั้งเป้าการเติบโตด้านจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ ร้อยละ 5 และการเติบโตด้านรายได้ร้อยละ 10 โดยคิดเป็นจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ 987,000 คน สร้างรายได้ 96,900 ล้านบาท ด้านอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านั้นตั้งเป้าผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ในปี 2557 คิดเป็นจำนวน 181,200 คน สร้างรายได้จำนวน 15,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้น อุตสาหกรรมการแสดงสินค้าภายในปี 2558 ประมาณการว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 30 โดยคาดว่าจะมีนักธุรกิจเดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทยประมาณ 545,000 ราย และสร้างรายได้ประมาณ 46,500 บาท” นางจารุวรรณ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ ทีเส็บได้ริเริ่มโครงการ ASEAN MICE Collaboration ตั้งแต่ปี 2554 โดยได้ดำเนินงานร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ 1) อินโดนีเซีย: ลงนามร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการส่งออกแห่งชาติอินโดนีเซีย 2) ลาว: ลงนามร่วมกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งลาว 3) เวียดนาม: ลงนามร่วมกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม (VCCI) และสำนักงานส่งเสริมการค้าแห่งเวียดนาม (VIETRADE) 4) ฟิลิปปินส์: ลงนามร่วมกับ Philippine Chamber Of Commerce and Industry และ Chamber of Commerce of the Philippine Islands

การดำเนินงานทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของทีเส็บที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความแข็งแกร่งและความเป็นปึกแผ่นของอุตสาหกรรมไมซ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าในภูมิภาค พร้อมดำเนินการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน