เนื้อหาวันที่ : 2013-09-24 02:01:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1707 views

พพ. จับมือ EPA. เดินหน้า ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคาอาคารภาครัฐในภูมิภาค

ช่วยเซฟได้อีก 330 ล้านบาทต่อปี มั่นใจเป็นก้าวสำคัญ ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย 3,000 เมกะวัตต์ ในปี 10 ปีนี้

พพ. จับมือ EPA. เดินหน้า ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคาในอาคารภาครัฐในภูมิภาค ยันนำร่องติดตั้งหลังศาลากลางจังหวัด และอาคาร อบต. เทศบาล ทั่วประเทศ หวังผลิตไฟฟ้าได้ 25 เมกะวัตต์ ช่วยชาติประหยัดเงิน 146 ล้านต่อปี แถมประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง 11 ล้านลิตรต่อปี ช่วยเซฟได้อีก 330 ล้านบาทต่อปี มั่นใจเป็นก้าวสำคัญ ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย 3,000 เมกะวัตต์ ในปี 10 ปีนี้
 
พลตำรวจโท ดร.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในงานแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคานำร่องในอาคารของรัฐในภูมิภาค โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว และสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมงาน

ดร.วิเชียรโชติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ ฯ ในวันนี้ กระทรวงพลังงานมีความตั้งใจให้การส่งเสริมระบบ Solar Rooftop ดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างสัมฤทธิ์ผล โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ได้ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการติดตั้งนำร่องให้แก่อาคารภาครัฐในส่วนภูมิภาค

ซึ่งเบื้องต้น จะดำเนินการติดตั้ง หลังคาศาลากลางจังหวัดในเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 74 จังหวัด และในหลังคาอาคารของรัฐ เช่น อบต. เทศบาล ทั้ง 74 จังหวัดเช่นเดียวกัน และได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาดังกล่าว ให้ได้ประมาณ 25 เมกะวัตต์  ซึ่งมีวงเงินลงทุนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 1,847,000,000 บาท 

ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนั้น จะสามารถประหยัดพลังงานได้ 36.5ล้านกิโลวัตต์ต่อปี หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 146 ล้านบาทต่อปี (คำนวนจากค่าไฟฟ้า 4 บาทต่อหน่วย) เกิดการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 11 ล้านลิตรต่อปี หรือประมาณ 330 ล้านบาทต่อปี (คำนวนจากราคาน้ำมันดีเซลคิดที่ 30 บาทต่อลิตร) รวมไปถึงสามารถลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาดังกล่าว จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาระโลกร้อน ได้สูงถึง 18,980 ตันต่อปี อีกด้วย

กระทรวงพลังงานมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจาก Solar Roof ให้ประสบความสำเร็จ และนอกจากโครงการนำร่องที่จะติดตั้งในอาคารภาครัฐในส่วนภูมิภาค ที่ได้เกิดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ กระทรวงพลังงานยังมีมาตรการส่งเสริมในแพ็คเกจต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการลงทุนทั้งจากครัวเรือน และผู้ประกอบการ เช่น การสนับสนุนอัตราการขายไฟฟ้าจากการผลิตด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (feed in tariff)  นโยบายการส่งเสริมด้านภาษี  รวมไปถึงการเร่งดำเนินการประเด็นการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ รง. 4 ซึ่งกระทรวงพลังงานพร้อมจะเร่งแก้ไขให้ได้โดยเร็ว” ดร.วิเชียรโชติ กล่าว

ด้านนายอำนวย ทองสถิตย์  อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า เบื้องต้นในการดำเนินโครงการเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในกลุ่มอาคารภาครัฐในภูมิภาค ซึ่งมีการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ พพ.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 1,847 ล้านบาท

โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในวันนี้ เชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้โครงการ ฯ ดังกล่าว สามารถสัมฤทธิ์ผลได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเป็นการผลักดันเพื่อส่งเสริมให้การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์บรรลุผลตามเป้าหมายของแผน AEDP ของกระทรวงพลังงานต่อไป