เนื้อหาวันที่ : 2013-09-18 15:19:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1710 views

ปตท. มั่นใจแหล่งเยตากุนปิดซ่อมช่วงปีใหม่ 2557 ไม่ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน

ปตท. มั่นใจแหล่งเยตากุนปิดซ่อมช่วงปีใหม่ 2557 ไม่ส่งผลกระทบประชาชนทุกภาคส่วน

ปตท. เตรียมพร้อมรองรับแหล่งเยตากุน สหภาพพม่า ปิดซ่อมบำรุงตามแผนงานระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2556 – 8 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ ด้วยการเตรียมสำรองพลังงานทุกประเภทให้เพียงพอ มั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อ ภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งเช่นเดียวกับการหยุดจ่ายก๊าซจากพม่าเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับแจ้งจาก บริษัท เปโตรนาส คาริการี เมียนมาร์ ลิมิตเต็ด ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งเยตากุน สหภาพพม่า ว่าจะดำเนินการปิดซ่อมบำรุง เพื่อต่อเชื่อมแท่นผลิตใหม่เข้ากับระบบการผลิตปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยรักษาระดับการผลิตและจ่ายก๊าซฯ ของแหล่งเยตากุนมายังประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องตามสัญญา จึงมีความจำเป็นต้องหยุดการจ่ายก๊าซธรรมชาติมายังประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2556 – 8 มกราคม 2557 รวม 14 วัน ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบประมาณ 1,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ ปตท. ได้ร่วมวางแผนบริหารจัดการเตรียมความพร้อมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยจะเรียกรับก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตทั้งในอ่าวไทยและบนบกอย่างเต็มที่ พร้อมจัดเตรียมสำรองน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้เพียงพอต่อความต้องการ

ปตท. มั่นใจว่าจะการหยุดจ่ายก๊าซครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง เนื่องจากได้ประสานงานเตรียมความพร้อมร่วมกับ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด รวมทั้งยังมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการสถานการณ์เมื่อครั้งแหล่งก๊าซฯต่างๆ ปิดซ่อมบำรุงดังที่ผ่านมา ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการหยุดซ่อมบำรุงแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ คือ ช่วงที่ประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่หรือเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว ดังนั้น ปตท. จึงได้เจรจาขอให้ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแต่ละแห่งวางแผนหยุดซ่อมบำรุงในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและผู้ใช้ก๊าซทุกภาคส่วน ” นายชาครีย์กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยรับก๊าซธรรมชาติจากพม่าปริมาณรวม 1,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นจากแหล่งยาดานา 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ แหล่งเยตากุน 460 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ 3 กลุ่ม ได้แก่ ภาคไฟฟ้า (EGAT+IPP) ภาคขนส่ง (NGV) และภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี เนื่องจากค่าความร้อนของก๊าซธรรมชาติจาก 2 แหล่งดังกล่าวมีความแตกต่างกันมาก จึงจำเป็นต้องนำก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งมาผสมกันก่อนจ่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย เพื่อให้มีค่าความร้อนและคุณภาพก๊าซตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อแหล่งยาดานา หรือแหล่งเยตากุนแห่งใดแห่งหนึ่งหยุดการผลิต ปตท. จำเป็นต้องหยุดการรับก๊าซธรรมชาติจากพม่าทั้งหมด