เนื้อหาวันที่ : 2013-08-26 16:45:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1464 views

ก่อสร้างไทย กระอักค่าแรง 300 บาทส่งแรงงานขาดแคลน

ก่อสร้างไทยกระอักค่าแรง 300 บาทส่งแรงงานขาดแคลน สมาคมอุตฯก่อสร้างไทยยื่น 5 ข้อร้องรัฐแก้ปัญหาก่อนวืด

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยในงานสัมมนา.....อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยกับการปรับตัวค่าแรง 300 บาท และการขาดแคลนแรงงาน....ซึ่งจัดวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ณ หอประชุมมหิศร อาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า ถนนรัชโยธิน ว่า สมาคมฯได้รับคำร้องเรียนจากสมาชิกและผู้ประกอบการก่อสร้างในประเทศไทยจำนวนมากถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ที่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น

โดยคำร้องเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังรัฐบาลประกาศใช้ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศไทยช่วงต้นปีนี้ จากการศึกษาข้อร้องเรียนของสมาชิกและผู้ประกอบการก่อสร้างในประเทศไทยพบว่าปัญหาการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากแต่เพียงประการเดียว แต่มีผลกระทบต่อเนื่องอีกหลายประการโดยเฉพาะกระทบกับโครงการที่มีการประมูลไปก่อนจะมีการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งหามาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง

มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมก่อสร้างนับล้านล้านบาทจะได้รับผลกระทบจนอาจทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงและแพร่ขยายไปในวงกว้างจนยากจะแก้ในอนาคต สมาคมฯจึงขอให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นมาตรการเร่งด่วน 5 ข้อดังนี้ ข้อแรก ให้ภาครัฐลดเพดานการหัก Escalation Factor จาก +4 เปอร์เซ็นต์ เป็น +2 เปอร์เซ็นต์ เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระหว่างการปรับตัวเพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน ข้อที่สอง ขอให้ผู้ประกอบการก่อสร้างสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ไปยังโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ผู้ประกอบการกำลังก่อสร้างอยู่

โดยสามารถเคลื่อนย้ายได้ทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาความขาดแคนแรงงานในภาคก่อสร้าง ข้อที่สาม ขอขยายอายุสัญญางานก่อสร้างภาครัฐ ทั่วประเทศ 180 วัน ทั้งนี้เพราะผลกระทบการขาดแคลนแรงงานรุนแรงจึงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งมอบงานตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการส่งมอบได้ ข้อที่สี่ ขอให้หน่วยงานราชการใช้ค่าปรับรายวันในอัตราตายตัว0.01 เปอร์เซ็นต์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากผลกระทบการขาดแคลนแรงงาน และข้อที่ห้า ให้ผู้ประกอบการก่อสร้างสามารถประกันผลงานของตนเองได้เมื่อผลงานก่อสร้างนั้นผ่านไปแล้ว 6 เดือน โดยไม่ต้องใช้ค้ำประกันจากธนาคาร เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารและเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

โดยมาตรการเร่งด่วนทั้ง 5 ข้อนี้ขอให้มีผลกับสัญญาทุกสัญญาที่มีนิติสัมพันธ์กับภาครัฐช่วงระหว่างวันที่ 1 เม.ย.55 – 22 เม.ย. 56 ทั้งนี้ทางสมาคมฯจะได้นัดหมายเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อท่านนายกรัฐมนตรีต่อไป และเชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้ง 5 ข้อจะส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความคล่องตัวและสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ร่วมถึงแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีคุณภาพได้ ทั้งนี้ในปี 2012 อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีอัตราการเติบโต 17.3 เปอร์เซ็นต์มูลค่ารวมประมาณ 927,940 ล้านบาท

โดยมีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ 2.8 ล้านคน เป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 200,000 คน ทั้งนี้ค่าจ้างแรงงานจะคิดเป็นต้นทุนในการก่อสร้างประมาณ 25% สำหรับปี 2013 อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 8.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนของภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 990,000 ล้านบาท

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเป็นปีที่ 84 เราเปรียบเสมือนเสาหลักของวงการ หากสมาชิกหรือผู้ประกอบในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความเดือดร้อน ทางสมาคมฯก็ต้องให้ความช่วยเหลือ แต่ก่อนจะให้ความช่วยเหลือ เราก็ต้องศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข ซึ่งทุกเรื่องเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะทุกมาตการรวมทั้งการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ

ผมเชื่อว่ารัฐบาลมีเจตนาที่ดี ที่จะยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของพี่น้องเราในระดับแรงงาน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลอาจจะไม่ได้ศึกษาให้ลึกลงไป คือความจริงที่ว่า ในขณะที่ค่าแรงงานทั่วประเทศอยู่ระดับ 200 บาทเศษ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างจ้างงานแรงงานคนไทยที่มีคุณภาพเกินกว่า 300 บาทอยู่แล้ว ความต่างของค่าแรงนี้ ทำให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่เมื่อขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ แรงงานหายไปจากตลาดก่อสร้างไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่ทำงานสบายกว่าเช่นโรงงาน จึงต้องมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนและต้องจ่ายค่าแรงอัตราเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากแรงงานไทยเป็นแรงงานคุณภาพ

ในขณะที่แรงงานต่างด้าว ยังขาดทักษะทั้งด้านการสื่อสาร ทักษะด้านความปลอดภัย ระเบียบวินัยและคุณภาพฝีมือ นอกจากนี้ค่าแรงที่ปรับขึ้นยังทำให้วัสดุก่อสร้างราคาสูงขึ้นตามไปด้วยเนื่องจากผู้ผลิตสินค้าใช้แรงงานเช่นกัน ทั้งหมดเป็นปัญหาที่เพื่อน ๆ และพี่น้องในอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องประสบอยู่ในขณะนี้จึงอยากขอความเห็นใจจากภาครัฐให้ช่วยผู้ประกอบการก่อสร้าง” นายอังสุรัสมิ์ ยังกล่าวว่า “ปัจจุบันสมาคมฯมีสมาชิก 500 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ รวมมูลค่าทางธุรกิจหลายแสนล้านบาท

และยังมีผู้ประกอบการก่อสร้างในประเทศไทยที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฯอีกหลายหมื่นราย การจัดงานสัมมนา.....อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยกับการปรับตัวค่าแรง 300 บาท และการขาดแคลนแรงงาน....ในครั้งนี้เป็นการจัดสัมมนาที่จัดขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาของผู้ประกอบการทั้งหมดอย่างแท้จริง ซึ่งผมต้องขอบคุณรศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน TDRI ที่มาร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย ซึ่งท่านได้มาสะท้อนมุมสำคัญในฐานะนักวิชาการที่ทำให้เราเห็นภาพของวิฤตและโอกาสจากการขาดแคลนแรงงานชัดเจนมากขึ้น ผู้ประกอบการที่มาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับประโยชน์อย่างมาก”

สำหรับการคาดการณ์การขาดแคลนแรงงานและแนวทางในการแก้ไขปัญหา นายอังสุรัสมิ์ กล่าวว่า ปัญหาการคาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างคงจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลมีแผนสำหรับโครงการสองล้านล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งสมาคมฯเสนอแนวทางแก้ไขในระยะเร่งด่วนและการดำเนินการต่อเนื่อง 4 ประการคือ

ประการแรก รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือในการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ ได้โดยสะดวก ประการที่สองแรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามารัฐบาลต้องให้การสนับสนุนฝึกฝนแรงงานเหล่านั้นให้มีคุณภาพและต้องเป็นการฝึกฝนที่เป็นมาตรฐาน เช่นการตั้งสถาบันฝึกฝีมือแรงงานต่างด้าว พร้อมหลักสูตรการฝึกอบรมมาตรฐาน แยกต่างความเหมาะสมของแต่ละอุตสาหกรรม

หากผ่านการฝึกในระดับต้นมีสิทธิได้รับค่าแรงเท่าใด ผ่านการฝึกในระดับกลางมีสิทธิได้รับค่าแรงเท่าใด ฯลฯ ประการที่สาม รัฐบาลต้องยอมรับต้นทุนโดยรวมที่สูงขึ้น และหลักเกณฑ์ในการคิดราคากลางการก่อสร้างก็ตั้งปรับให้เหมาะสมสะท้อนความเป็นจริง ประการที่สี่ สำหรับการประมูลงานภาครัฐ รัฐบาลควรมีการกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างที่เหมาะสมกับงาน

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากสามารถลดข้อเสียเปรียบในเรื่องการใช้แรงงาน ซึ่งหมายถึงการใช้แรงงานน้อยลง เปลี่ยนวิธีก่อสร้างโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย หรือการใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ใช้เครื่องจักรทดแทน โดยคุณภาพการก่อสร้างยังมีคุณภาพเช่นเดิมหรือดีขึ้น จะส่งผลให้เราสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อมีการเปิด AEC ในปี 2015