เนื้อหาวันที่ : 2013-07-30 23:08:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2217 views

กรีนพีซ จี้รัฐทบทวนนโยบายพลังงานที่ครอบงำโดยอุตฯพลังงานฟอสซิล

จากกรณีน้ำมันดิบปริมาณมหาศาลรั่วไหลลงสู่ทะเลแถบระยองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายด้านพลังงาน และยุติการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย

จากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบกลางทะเลรั่ว ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

“ทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไทย ถูกคุกคามมาตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ล่าสุดในเหตุน้ำมันรั่วไหลกว่า 200 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในทะเลไทยในช่วง 30 ปีนี้ ปตท. ควรออกมารับผิดชอบกับหายนะที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล แต่ควรจะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยทันทีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเล และการท่องเที่ยวของไทย” พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (2) ซึ่งระบุว่า การแก้ปัญหาและขจัดคราบน้ำมันนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ถ้าการขจัดคราบน้ำมันนั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของประเทศไทยที่จะจัดการได้ ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรสากลได้

“บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ตามมาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และควรต้องมีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยการฟื้นฟูและการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากมลพิษจากน้ำมัน” พลาย ภิรมย์ กล่าวเสริม

การขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวของแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทอย่างน้อย 39 บริษัท ที่กำลังดำเนินการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้น่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยมีการจัดการเกี่ยวกับนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาก เราไม่ควรอนุญาตให้มีการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซซึ่งทำให้วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเราตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งๆ ที่เราก็มีมาตรการในการพัฒนาพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนอยู่แล้ว การเริ่มต้นในวงกว้างในเรื่องยานพาหนะที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับยานพาหนะทุกประเภทต้องไม่ใช่แค่เพียงเพื่อประหยัดน้ำมันนับล้านๆ บาร์เรล แต่ต้องลดความต้องการใช้น้ำมัน และทำให้การเกิดน้ำมันรั่วไหลน้อยลงด้วย” พลาย ภิรมย์ กล่าวเพิ่มเติม