เนื้อหาวันที่ : 2013-07-29 11:57:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2594 views

ยิ่งลักษณ์ ชวนภาคเอกชนแอฟริกาลงทุนในไทย

นายกรัฐมนตรีหารือภาคเอกชนแลกเปลี่ยนข้อมูลพัฒนาการค้าการลงทุนในแอฟริกา ขณะที่ภาคเอกชนขอบคุณรัฐบาลที่นำร่วมคณะจนทำให้เกิดความร่วมมือด้านการค้ากับหลายประเทศ

 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมหารือร่วมกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนชั้นนำของไทย ที่เดินทางร่วมคณะประมาณ 60 คน

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า แอฟริกาถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งรัฐบาลมองว่าควรจะมีความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ และในมิติของภูมิภาค ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้แสดงความจริงใจ ต่อการให้ความช่วยเหลือระหว่างกันและริเริ่มกาีรประชุมผู้นำของกลุ่มแอฟริกากับไทยขึ้นเป็นครั้งแรก และจะนำไปสู่ความร่วมมือกับอาเซียนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนเห็นตรงกันที่ภาครัฐควรจะเข้ามาสนับสนุน การขยายการค้าการลงทุนในแอฟริกา โดยเฉพาะโมซัมบิก ที่มีแผนพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงด้านพลังงาน ซึ่งทาง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด หรือ ปตท.สผ. ที่มีประสบการณ์จะเข้ามาดำเนินการลงทุนทางด้านนี้ได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานปิโตรเคมีให้กับทางโมซัมบิกเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหาแหล่งพลังงานทดแทน

ขณะที่ภาคเอกชนด้านอัญมณี สะท้อนปัญหาอุปสรรคในการเข้ามาลงทุนในโมซัมบิก โดยต้องการให้ภาครัฐประสานกับโมซัมบิก เพื่อเข้ามาดูแลธุรกิจด้านนี้ เช่นเรื่องภาษี ขั้นตอนการทำข้อตกลง เกี่ยวกับการซื้อขายอัญมณีให้ถูกต้อง ให้ธุรกิจไทยสามารถเดินหน้าได้อย่างราบรื่น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือถึงแนวทางการช่วยเหลือภาคเอกชนไทย เช่นแนวทางตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อดูแลปัญหา และให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในแอฟริกา

ในส่วนของภาคการก่อสร้าง ทางภาคเอกชนซึ่งได้รับการประมูลโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ขนส่งถ่านหินมายังท่าเรือ เพื่อกระจายสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียและไทย จึงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องของเงินกู้ จากสถาบันการเงินต่างๆ ด้วย

ในช่วงท้ายของการหารือมีภาคเอกชนหลายรายขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ได้นำภาคเอกชนร่วมเดินทางกับคณะไปในหลายประเทศ ที่ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เช่นบางบริษัทได้รับการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศมัลดีฟส์หลายรายการ หรือประเทศตุรกี ได้สั่งซื้อยางพาราจากไทย ทั้งยังเกิดการแลกเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เช่นโรงพยาบาลเอกชนด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งจัดทำแบบสำรวจจากภาคเอกชนในการร่วมคณะไปในประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลว่ามีความสำเร็จในด้านใดบ้าง และจากนี้จะต้องหารือร่วมกันก่อนที่จะเดินทางไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งในปีนี้นายกรัฐมนตรียังมีภารกิจเยือนต่างประเทศอีก 12 ประเทศ

ข้อมูลข่าวและที่มา : อภิสิทธิ์ จันทร์เต็ม สวท. / ภาพ : allince/dpa