เนื้อหาวันที่ : 2013-07-11 11:16:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2130 views

สนพ. ทุ่มงบกว่า 33.5 ล้านบาท ศึกษาระบบผลิตก๊าซชีวภาพอัดสำหรับทดแทนก๊าซ LPG

เดินหน้าศึกษาระบบผลิตก๊าซชีวภาพอัดทดแทนก๊าซแอลพีจี เพื่อใช้ในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม อนาคตเตรียมทดลอง ใช้จริง ในชุมชนต้นแบบ

สนพ. จับมือ มช. ต่อยอดขยายการใช้ก๊าซชีวภาพ เดินหน้าศึกษาระบบผลิตก๊าซชีวภาพอัดทดแทนก๊าซแอลพีจี เพื่อใช้ในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม อนาคตเตรียมทดลอง ใช้จริง ในชุมชนต้นแบบ

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ. ได้สนับสนุนสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดทำ “โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลวในเชิงพาณิชย์” เพื่อศึกษาระบบผลิตก๊าซชีวภาพอัดสำหรับทดแทนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และจัดสร้างต้นแบบศูนย์สาธิตระบบผลิตและบรรจุก๊าซชีวภาพอัดสำหรับนำไปใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 33,542,300 ล้านบาท

ที่ผ่านมา สนพ. ได้สนับสนุนการศึกษาและวิจัย การนำก๊าซชีวภาพมาต่อยอดเพื่อนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพอัด (Compressed Bio-methane Gas : CBG) ทดแทนก๊าซ NGV ซึ่งผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ และในส่วนการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ในเชิงพาณิชย์นั้น ล่าสุด สนพ. ได้ส่งเสริมการผลิตซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำก๊าซชีวภาพมาปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้แทนก๊าซแอลพีจีต่อไปได้” ผอ.สนพ. กล่าว

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ดูแลโครงการฯ กล่าวว่า เพื่อให้การวิจัยมีความสมบูรณ์ ทางสถาบันฯ จึงได้ร่วมกับ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ตั้งอยู่ที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ในการทดสอบผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันได้นำก๊าซชีวภาพไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม และแจกจ่ายให้ชุมชนใกล้เคียงใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) จำนวน 40-50 ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นชุมชนต้นแบบในการเปลี่ยนมาใช้ชุดถังบรรจุก๊าซชีวภาพอัดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG)

รศ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ทาง มช. อยู่ระหว่างการติดตั้งสถานีต้นแบบผลิตก๊าซชีวภาพอัดด้วยวิธีดูดซึมด้วยน้ำ พร้อมกับทดสอบประสิทธิภาพเชิงความร้อน ทั้งนี้จากผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่าก๊าซชีวภาพอัดมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับก๊าซ LPG สามารถใช้ทดแทนได้ และในลำดับต่อไป ทางโครงการฯ จะทำการออกแบบถังบรรจุก๊าซชีวภาพอัดให้เหมาะสมกับการใช้งาน พร้อมทั้งศึกษาระบบความปลอดภัยและทดสอบการเผาไหม้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน ก่อนจะนำไปทดลองใช้จริงในชุมชนต้นแบบ จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์ต้นทุนและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ต่อไป