เนื้อหาวันที่ : 2013-07-08 14:29:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1550 views

แมนูไลฟ์เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเอเชียพบแนวโน้มขาขึ้น

ญี่ปุ่นกระเตื้องหลังใช้นโยบายอาเบะโนมิกส์ ฮ่องกงสวนกระแส ความเชื่อมั่นติดลบ

ญี่ปุ่นกระเตื้องหลังใช้นโยบายอาเบะโนมิกส์ ฮ่องกงสวนกระแส ความเชื่อมั่นติดลบ นักลงทุนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียและแคนาดามีความเชื่อมั่นในอนาคตมากขึ้นซึ่งมากกว่านักลงทุนในสหรัฐอเมริกาช่องว่างความผันผวน” ชัดเจนขึ้นระหว่างความเชื่อมั่นกับการลงทุน นักลงทุนตลาดเอเชียที่พัฒนาแล้วลงทุนแบบ “บาร์เบล” เน้นเงินสด หุ้น ความคาดหวังในผลตอบแทนของนักลงทุนเอเชียที่สูงเกินจริง เป็นอุปสรรคต่อการเลือกลงทุน นักลงทุนเลือกที่จะถือเงินสดเป็นจำนวนมากแม้ผลตอบแทนแท้จริงติดลบ

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ (Manulife ISI) ในเอเชียล่าสุด จากการทำสำรวจโดยการสัมภาษณ์นักลงทุนกว่า 3,500 คน ใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเซีย ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นนักลงทุนเป็นขาขึ้น สอดคล้องกับผลการสำรวจจากดัชนีความเชื่อมั่นของแมนูไลฟ์แคนาดา และจอห์น แฮนค็อกซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของแมนูไลฟ์ในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นทุกตลาดเป็นบวก ยกเว้นฮ่องกง และเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากนโยบายอาเบะโนมิกส์ นโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ขณะที่ตลาดเดียวที่แสดงความเชื่อมั่นติดลบนั่นคือฮ่องกง

ผลสำรวจ Manulife ISI แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักลงทุนส่วนใหญ่ ทั้งในเอเชียและแคนาดา มองว่าสถานะทางการเงินจะมีการปรับระดับดีขึ้นใน 2 ปีนี้ ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจที่ผ่านมา สำหรับในสหรัฐอเมริกานั้น ครึ่งหนึ่งของนักลงทุนยังมองเห็นว่าสถานะทางการเงินจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผลการสำรวจ Manulife ISI ยังชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนเอเชียตอบสนองต่อสัญญาณฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐานของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของทวีปอเมริกาเหนือ แต่นักลงทุนหลายรายยังไม่พร้อมที่จะลงทุนและเลือกใช้แนวทางที่เน้นการถือเงินสดเป็นจำนวนมากไว้แทน ซึ่งส่งผลให้ พวกเขาสูญเสียเงินไปโดยปริยาย” มร. โรเบิร์ต เอ คุ้ก, ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคเอเชีย ของแมนูไลฟ์ กล่าว


แม้ผลสำรวจโดยรวมจะออกมาเป็นบวก แต่ก็มีจุดอ่อนของความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อมั่นกับแผนลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เช่นในญี่ปุ่น ที่ นักลงทุนมีทัศนะเชิงบวกเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น แต่ผู้วางแผนลงทุนอย่างจริงจังกลับมีจำนวนต่ำกว่าในจีนและไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่ำกว่า


ผลสำรวจ Manulife ISI ยังชี้ให้เห็นแนวทางลงทุนแบบ “บาร์เบล” ในตลาดเอเชียที่พัฒนาแล้ว โดยนักลงทุนให้ความสำคัญกับเงินสดและหุ้น ซึ่งสินทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้ เป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่ถือครองมากที่สุดสองอันดับแรก และเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนถืออยู่มากที่สุดสองอันดับแรกด้วยเช่นกัน (ยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัยหลัก)

 

ผลสำรวจ Manulife ISI ระบุด้วยว่านักลงทุนเอเชียอยู่ในภาวะถือเงินสดมากเกินไป โดยร้อยละ 40 ของสินทรัพย์(นอกจากบ้านที่อยู่อาศัยหลัก) ของผู้ที่ตอบคำถามที่ถืออยู่ จะอยู่ในรูปของเงินสด โดยสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าสินทรัพย์ในลำดับรองลงมา คือ ประกันภัยและหุ้นถึงสองเท่าตัว

 

เมื่อพิจารณาทั้งภูมิภาค
ผลสำรวจ Manulife ISI ยังบ่งชี้ว่า นักลงทุนในภูมิภาคเอเซียคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงเกินความเป็นจริง โดยนักลงทุนครึ่งหนึ่งที่สำรวจระบุว่า คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ราวร้อยละ 20 จากการลงทุนหุ้น ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่แท้จริงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาถึงสองเท่าตัว “ความคาดหวังต่อตลาดหุ้นของนักลงทุนค่อนข้างสูง” มร. โรนัลด์ ชาน, หัวหน้าส่วนการลงทุนตราสารทุนภูมิภาคเอเชีย, Manulife Asset Management กล่าว “ตลาดโลก รวมทั้งในเอเชียแปซิฟิก มีความผันผวนมากขึ้นในช่วงนี้จากการทยอยลดมาตรการ QE ในสหรัฐฯ และความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ดี แม้ทิศทางระยะสั้นของตลาดโดยรวมน่าจะเป็นไปตามรายงานข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค แต่ย้อนหลังหนึ่งปีที่ผ่านมาปัจจัยพื้นฐานปรับตัวดีขึ้น และยังคงมีโอกาสมากมายในตลาดหุ้นสำหรับนักลงทุนเมื่อพิจารณาตามรายภาคอุตสาหกรรมและตามรายหุ้น”

 

การตอบสนองเชิงบวกต่อนโยบายอาเบะโนมิกส์ส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนในผลสำรวจ Manulife ISI และสอดคล้องกับการศึกษาใหม่ ชื่อ “มุมมองของอาเบะโนมิกส์ : ความหมายสำหรับตลาดการเงิน (The outlook for Abenomics: Implications for financial markets)” ซึ่งจัดทำขึ้น โดย Manulife Asset Management โดยผลสำรวจชี้ว่านโยบายอาเบะโนมิกส์น่าจะประสบความสำเร็จโดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายด้าน รวมทั้งการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น ภาษีบริโภครูปแบบใหม่ตามที่วางแผนไว้และความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้


ขณะที่ นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า แม้เงินฝากธนาคารจะยังเป็นสินทรัพย์ ที่นักลงทุนไทยถือมากที่สุด แต่เราเชื่อว่า เงินฝากธนาคารนั้นได้นำไปกระจายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ตัวเลขสองหลัก โดยปัจจุบันนักลงทุนจำเป็นต้องหาทางเลือกในการลงทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มสินทรัพย์ลงทุนของตนเอง ซึ่งสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ หุ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรงหรือลงทุนผ่านกองทุนรวมต่าง ๆ เช่น กองทุนหุ้น กองทุนผสม หรือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF)

 

ขณะที่การส่งเสริมการขายกองทุนรวมอย่างแข็งขันจากบริษัทจัดการกองทุนและกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่งผลให้นักลงทุนมีความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น โดยอัตราการเข้าลงทุนในกองทุนรวมพิจารณาจากจำนวนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งทะยานขึ้นจาก 1.48 ล้านบัญชีในปี 2550 มาอยู่ที่ 3.55 ล้านบัญชีในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 140 นอกจากนี้ สัดส่วนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนต่อบัญชีเงินฝากธนาคารยังเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 1.14 ในปี 2545 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.33 ในปี 2555 อีกด้วย โดยเราเชื่อว่าสัดส่วนดังกล่าวนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ – ผลสำรวจหลัก
ความเชื่อมั่นนักลงทุน
- ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ในเอเชียโดยรวมขยับขึ้นร้อยละ 4 จากดัชนีล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา (จาก +17 เป็น +21) โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มขาขึ้นของดัชนีที่แคนาดา (จาก +31 เป็น +35) และสหรัฐฯ (จาก +24 เป็น +26)


- ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดในญี่ปุ่นโดยนโยบายอาเบะโนมิกส์และความเชื่อเกี่ยวกับสภาวะตลาดที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้ความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นในสินทรัพย์ทุกประเภท แต่ความเชื่อมั่นในฮ่องกงกลับปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยจากความเชื่อมั่นที่ลดลงในหุ้น กองทุนรวม และที่สำคัญที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์


- นักลงทุนส่วนใหญ่ในเอเชียและแคนาดาคาดว่าตนจะมีฐานะดีขึ้นในสองปี โดยตัวเลขทั้งสองตลาดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนในญี่ปุ่น แม้โดยรวมจะมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น แต่ตัวเลขเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5 มาอยู่ที่เกือบหนึ่งในสามของนักลงทุน ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดในเอเชีย ขณะที่ในฮ่องกงสัดส่วนลดลงเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่ง

การตัดสินใจลงทุนที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อมั่น
- ขณะที่ผู้ตอบคำถามกว่าสองในสามมีความเชื่อมั่นต่อหุ้นทั่วโลกในเชิงบวกหรือกลาง ๆ แต่น้อยกว่าหนึ่งในสี่มีแผนลงทุนสินทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้นในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้
- สินทรัพย์ประเภทเดียวที่ความเชื่อมั่นสอดคล้องกับแผนลงทุน คือ อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ซึ่งการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมอยู่ในระดับสูง

แนวทางลงทุนแบบบาร์เบล
- นักลงทุนเอเชียในตลาดพัฒนาแล้วระบุว่า หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะนำเงินสดไปซื้อที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวทางลงทุนแบบบาร์เบลโดยเน้นถือเงินสดและหุ้น
- เมื่อถามว่า สิ่งใดที่อาจจูงใจให้นำเงินสดไปลงทุน คำตอบที่ได้รับมากที่สุด คือ การลงทุนที่มีการรับประกันผลตอบแทน (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) และการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่อเนื่องในระดับปานกลาง (ตลาดอื่นทุกตลาด) ในขณะเดียวกัน เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับทางเลือกอื่นๆ ในการลงทุน คือทางเลือกอื่นเสี่ยงเกินไป

ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
- นักลงทุนเอเชียกว่าครึ่งและส่วนใหญ่ในทุกตลาด ยกเว้นไต้หวัน คาดหวังผลตอบแทนจากหุ้นเป็นตัวเลขสองหลัก แม้ในความจริงจะไม่มี ตลาดใดที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง
- ผู้ตอบคำถามเกือบ 9 ใน 10 ของอินโดนีเซีย ระบุว่า คาดหวังผลตอบแทนจากอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ยร้อยละ 32 ต่อปี ซึ่งนับเป็นความคาดหวังที่อยู่ในระดับสูงที่สุด

การถือครองเงินสด
- ที่สิงคโปร์ นักลงทุนถือเงินสดเฉลี่ยเท่ากับรายได้ต่อหัว 35 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในเอเชีย กระนั้นผู้ตอบคำถามถึงครึ่งหนึ่งกลับรู้สึกว่ายังถือเงินสดไว้น้อยเกินไป มีเพียงร้อยละ 5 ที่รู้สึกว่าตนเองถือเงินสดมากเกินไป
- ผู้ตอบคำถามระบุว่า เงินสดที่ตนถืออยู่นั้น มีเพียงหนึ่งในห้าที่ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายประจำวันหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด โดยที่เหลือตั้งใจเก็บไว้เพื่อเป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาว
- ในเกือบทุกตลาด เหตุผลหลักที่คนไม่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น คือ กังวลว่าจะตัดสินใจลงทุนผิดพลาด

เกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ในเอเชีย
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ (Manulife ISI) ในเอเชียเป็นข้อมูลสำรวจรายไตรมาสของ แมนูไลฟ์ ซึ่งประเมินจากการติดตามทัศนะของนักลงทุนทั้งเจ็ดตลาดในภูมิภาคต่างๆ ที่มีต่อสินทรัพย์และเครื่องมือลงทุนประเภทหลัก ๆ การวิจัยถูกดำเนินการในฮ่องกง จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยในแต่ละตลาดได้มีการสัมภาษณ์บุคคล 500 ราย ผ่านทางระบบออนไลน์ ยกเว้นในมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งวิจัยในลักษณะพบหน้า โดยผู้ตอบคำถามเป็นนักลงทุนชนชั้นกลางขึ้นไปถึงระดับร่ำรวย มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจหลักในเรื่องการเงินในครอบครัว และปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ลงทุนอยู่


Manulife ISI เป็นชุดวิจัยที่มีประวัติยาวนานในภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยใช้วัดความเชื่อมั่นนักลงทุนในแคนาดาตลอดช่วง 13 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นเริ่มใช้ที่กิจการจอห์น แฮนคอก ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2554 และเริ่มใช้ในเอเชียเมื่อต้นปีนี้ การวิจัยในเอเชียมี TNS ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลกเป็นผู้ดำเนินการในช่วงกลางเดือนเมษายน 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2556 รายละเอียดเกี่ยวกับดัชนีของแมนูไลฟ์แคนาดาและ จอห์น แฮนคอก สามารถตรวจสอบได้ที่ www.manulife.com และ www.johnhancock.com