เนื้อหาวันที่ : 2013-06-11 16:05:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1348 views

สศอ. เร่งส่งเสริมมาตรการเพิ่มขีดการแข่งขันอุตฯ ไทยจากวิกฤตบาทแข็ง

กระทรวงอุตสาหกรรมมีการติดตามค่าเงินบาทและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้ SME มีโอกาสได้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ชี้ค่าเงินบาทแข็งกระทบภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทย แต่ยังมีผลเชิงบวกด้านการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรที่มีราคาถูกลง ทำให้มีอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์จากเงินแข็งค่าคือ อุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากและผลิตสินค้าที่เน้นการจำหน่ายในประเทศเป็นหลักเช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมยาสูบ อุตสาหกรรมน้ำมันพืช

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาท เมื่อตั้งแต่ต้นปี 2555 อยู่ที่ 31.59 ต่อเหรียญสหรัฐฯ และมีทิศทางแข็งอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเริ่มอ่อนตัวลงในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น ประกอบกับความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น และในไตรมาสที่ 3 เริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ เมื่อต้นปี 2556 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.62 บาท และมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นในระดับสูงสุดที่ 28.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (ณ วันที่ 22 เมษายน 2556) ก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 30.76 บาทเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556

เมื่อเปรียบเทียบค่าเงินนับตั้งแต่ต้นปีนั้นเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 0.44 ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าซื้อตราสารหนี้ลดลงมากในเดือนเมษายน ที่มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท จากกว่า 300,000 ล้านบาทในไตรมาสแรกหรือประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อเดือน ประกอบกับเงินลงทุนต่างประเทศที่ไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากนักลงทุนเกรงว่าสหรัฐฯ จะหยุดการใช้มาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย (QE 3) ก่อนกำหนด และการเตรียมใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเข้าออกประเทศของรัฐบาลไทย

ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงแต่ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าจะกลับมาแข็งค่าอีกหรือไม่ เนื่องจากส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ดีปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากไม่น้อยไปกว่าการแข็งค่าของเงินเลยก็คือ ความผันผวนของค่าเงินบาทซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการในการกำหนดราคาขายสินค้าที่ทำได้ลำบาก  มีการทำการตกลงซื้อขายระยะสั้นมากขึ้น สร้างความลำบากในการวางแผนการผลิตและธุรกิจ

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีการติดตามค่าเงินบาทและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบการสนับสนุนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือในการประกันความเสี่ยง และให้ความรู้ในการบริหารความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนและเข้าใจยากให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้มีโอกาสได้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น