เนื้อหาวันที่ : 2007-06-15 08:33:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1864 views

สร้างผู้เชี่ยวชาญงานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรป้อนอุตฯไทย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 วิทยาเขต ร่วมสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญในโครงการส่งเสริมและสนับสนุนงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรมไทยเข้าไปผลักดันงานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาเครื่องจักรชำรุดเสียหาย

 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 วิทยาเขต ร่วมสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญในโครงการส่งเสริมและสนับสนุนงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรมไทยเข้าไปผลักดันงานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาเครื่องจักรชำรุดเสียหาย ทำให้ต้องหยุดซ่อมบ่อยจนถึงใช้งานไม่ได้และถูกทิ้งอยู่ในโรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตและต้นทุนของผู้ประกอบการไทย
.

รศ.ดร. สมชาย  ฉัตรรัตนา  รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ในฐานะกำกับดูแลโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)  เปิดเผยว่า การดำเนินงานของโครงการ iTAP ในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี (ITA) เข้าเยี่ยมวินิจฉัยปัญหาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่อุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมา  พบว่า  มีบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยจำนวนมากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ  อาทิ  การเลือกใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และเครื่องจักรที่ไม่เหมาะสม ระบบการบริหารจัดการ การบริหารการผลิต และการดูแลรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรไม่ดีพอ ทำให้เกิดการสูญเสียหรือใช้พลังงานไปโดยไร้ประสิทธิภาพ แต่ปัญหาพื้นฐานที่มักถูกมองข้ามไป คือ เรื่องของ "งานบำรุงรักษาเครื่องจักร"

.

"โรงงานอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่มักประสบปัญหาด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักร และการเพิ่มผลผลิต ซึ่งสาเหตุมาจาก เครื่องจักรส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นการนำเข้าเครื่องมือสองจากต่างประเทศ ไม่มีคู่มือ หรือไม่ก็เป็นเครื่องที่สร้างในประเทศ เมื่อใช้งานไปนานๆ เกิดการชำรุดเสียหาย ขาดบุคลากรหรือช่างซ่อมที่มีความรู้ด้านเทคนิคที่ถูกต้อง ไม่มีแผนกซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร หรือกรณีที่มีอยู่ก็ยังไม่เหมาะสม ประกอบกับเครื่องจักรบางประเภทต้องใช้อะไหล่และชิ้นส่วนเฉพาะ   ขณะเดียวกันอาจารย์ทางด้านวิศวกรเอง อาจประสบปัญหาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกลับต้องมาเป็นช่างคอยซ่อมเครื่องจักรให้กับโรงงานที่มีปัญหาอยู่เป็นจำนวนมากแทน ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง"

.

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย ทางโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้กำกับของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. จึงได้จัดทำ โครงการการส่งเสริมและสนับสนุนงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรมไทยขึ้น โดยร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญหลักจากกองบริการเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพระนครเหนือ มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ค. 2550 -  30 เม.ย. 2553

.

โดยคณะผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยอาจารย์ในสาขางานที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 วิทยาเขต ทั่วประเทศ  ได้แก่  นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา กรุงเทพฯ อยุธยา สุพรรณบุรี นนทบุรี และตาก รวมทั้งสิ้น 30 คน โดยมุ่งหวังจะแบ่งออกเป็นทีมๆ ละ 3 คน กระจายไปยังโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทุกประเภทอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อสร้างทีมซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบทวีผล ให้กับคนงานของโรงงาน เพื่อให้โรงงานสามารถดูแลตัวเองได้  โดยคณะผู้เชี่ยวชาญในโครงการนี้ จะเข้าไปสอนวิธีการซ่อมบำรุง เพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจในส่วนของเครื่องจักร กระบวนการทำงาน และสอนให้รู้จักชื่อของอะไหล่และชิ้นส่วนแต่ละชิ้นอย่างถูกต้อง รวมถึงสอนให้รู้จักหน้าที่ของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นส่วน  พร้อมกับจัดทำคู่มือให้กับโรงงานสำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร  เนื่องจากเป็นการสอนแบบ 1 ต่อ 1  เบื้องต้นตั้งเป้าโรงงานไว้ไม่น้อยกว่า 30 แห่ง ตั้งแต่ 1 ส.ค. 255015 เม.ย. 2553 หรือเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง

.

รองผู้อำนวยการศูนย์ TMC กล่าวถึงผลที่จะได้รับจากโครงการฯ ครั้งนี้ คาดว่า  จะทำให้เกิดเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ และภาครัฐกับภาคเอกชน และทำให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มพูนศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญใหม่ในสาขางานซ่อมบำรุงเครื่องจักร ส่วนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเองก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ถูกต้องนำไปสู่การมีศักยภาพในการแข่งขันต่อไป และเกิดการเชื่อมโยงปัญหาและความต้องการด้านเทคโนโลยีและการจัดการการผลิตของภาคเอกชนไปสู่งานวิจัยและพัฒนาในหน่วยงานภาครัฐ และจากงานวิจัยสู่ภาคการผลิตต่อไปในอนาคต

.

ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ย้ำว่า "ประโยชน์ของงานซ่อมบำรุงรักษา นอกจากได้เครื่องจักรที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ลดการสูญเสียทั้งด้านวัตถุดิบและเวลา ผู้ประกอบการก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าตอบแทนต่อคนงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมไทย"

.

สำหรับการดำเนินงานของโครงการฯ แบ่งเป็น 2 โครงการย่อย  โดยโครงการย่อยที่1 : เป็นการสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญใหม่งานซ่อมบำรุงเครื่องจักร และโครงการย่อยที่ 2 : เป็นการขยายเครือข่ายการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งมีกิจกรรมภายใต้โครงการฯ รวม 6 กิจกรรมหลัก อาทิ  การประชาสัมพันธ์โครงการ , การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการอบรมสัมมนาทางวิชาการและภาคปฏิบัติ, การเข้าเยี่ยมและวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้น การเข้าเยี่ยมดูงานบริษัทตัวอย่างทั้งในและต่างประเทศ  และการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการโดยคณะผู้เชี่ยวชาญเป็นรายบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญใหม่ซึ่งเป็นบุคลากรจากสถาบันการศึกษาไม่น้อยกว่า 20 คน แบ่งออกเป็น 5 ทีมๆ ละ 3 คน  เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภท ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท และคาดว่า จะมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยจะมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.ที่จะถึงนี้