เนื้อหาวันที่ : 2006-05-17 14:15:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2048 views

กระทรวงพลังงาน ดันมาตรการพลังงานทดแทนแก้ไขน้ำมันแพง

กระทรวงพลังงาน ชูมาตรการพลังงานทดแทนแก้ไขน้ำมันแพงอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าปี 2549 ผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้ได้วันละ 8 ล้านลิตร เร่งขยายพื้นที่ปลูกปาล์มทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

 

กระทรวงพลังงาน ชูมาตรการพลังงานทดแทนแก้ไขน้ำมันแพงอย่างยั่งยืน หลังได้ข้อยุติกับกระทรวงการคลัง ลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ NGV  เพื่อจูงใจผู้ผลิตรถยนต์ NGV และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้มากขึ้น รวมทั้งตั้งเป้าหมายในปี 2549 ผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้ได้วันละ 8 ล้านลิตร และการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลิตไบโอดีเซลให้ได้ตามเป้าหมาย

 

นายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากปัญหาสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนภาครัฐได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับภาคประชาชน ภาคขนส่ง และการจัดหาพลังงานทดแทนน้ำมันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยขณะนี้ในมาตรการเหล่านี้ได้มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 

 

มาตรการทดแทนน้ำมันอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ หรือ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ NGV คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 49 เห็นชอบให้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเครื่องยนต์ NGV สำเร็จรูปทั้งในรูปของเครื่องยนต์เก่าและเครื่องยนต์ใหม่จากต่างประเทศ จากเดิมจัดเก็บในอัตราไม่เกิน 10% ให้เป็น 0% และในการประชุมวันนี้ระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังได้ข้อสรุปเพิ่มเติมที่จะให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ NGV โดยเน้นการลดหย่อนอัตราภาษีให้กับรถยนต์ NGV ที่ติดตั้งจากโรงงานเป็นระยะเวลา 2 ปี

 

นอกจากนี้ในการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากมีการใช้เฉลี่ยวันละ 4 ล้านลิตร กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมาย ในปี 2549 ผลิตให้ได้วันละ 8 ล้านลิตร และพัฒนาการผลิต  เอทานอลให้ได้อีกวันละ 8 แสนลิตร ขณะที่การผลิตไบโอดีเซล เพื่อเป็นการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น มติ ครม. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 49 ได้มีมติเห็นชอบโครงการปลูกปาล์มน้ำมัน และการจัดหากล้าปาล์มที่มีคุณภาพ โดยโครงการระยะแรกปี 2549-2552 จะเริ่มปลูกปาล์มรวมทั้งสิ้น 6 ล้านไร่ และโครงระยะที่สองจะเริ่มในปี 2553-2555 นอกจากนี้ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของกระทรวงต่างประเทศทำให้จะมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  อาทิ ลาว กัมพูชา เพื่อผลิตน้ำมันปาล์มดิบให้เพียงพอกับการบริโภคและนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซลต่อไป  ด้านมาตราการเร่งด่วนที่ออกมาช่วยเหลือในภาคต่างๆภาพรวมรัฐได้จัดการลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลลง 1 บาท/ลิตร  เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันดีเซลแพงให้กับผู้ใช้น้ำมันทั่วประเทศ

 

ภาคขนส่ง รัฐได้ขอความร่วมมือให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งได้ใช้น้ำมันดีเซลที่มีราคาถูกกว่าราคาขายปลีก ณ สถานีบริการ 1 บาทต่อลิตร ทั้งในกลุ่มรถ ขสมก. บขส. รถร่วมบริการ และเรือโดยสาร ความคืบหน้าการประชุมในการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานกับกระทรวงคมนาคมเมื่อวานนี้ (9 พ.ค. 49) กระทรวงพลังงานได้นำกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเข้าพบกับกลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่งเพื่อยืนยันความพร้อมการจำหน่ายน้ำมันถูกกว่า 1 บาทต่อลิตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระทรวงคมนาคมกำหนดความชัดเจนในรายละเอียดของกลุ่มผู้ซื้อที่มีอยู่ 2 แสนราย ความต้องการปริมาณน้ำมันที่แท้จริง การระบุชื่อ/เลขทะเบียนเจ้าของรถยนต์เพื่อป้องกันการแอบอ้าง รวมทั้งในจุดของสถานีบริการน้ำมันที่ขอให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายน้ำมันให้แก่กลุ่มรถขนส่งได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.เป็นต้นไป  

 

กลุ่มประมง รัฐกำหนดให้การช่วยเหลือกลุ่มประมงขนาดเล็กโดยจัดหาน้ำมันม่วงที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกจำนวน 2 บาทต่อลิตร การเปิดโครงการวันแรกเมื่อวานนี้ (9 พ.ค.49) มีการปล่อยเรือจำหน่ายน้ำมันม่วงจากองค์การสะพานปลาออกสู่น่านน้ำ 5 ไมล์ทะเล ในจุดจำหน่าย 2 จุด บริเวณเกาะหลัก จ. ชุมพร และบริเวณทะเล จ.ชลบุรี และจะมีการขยายให้ครบ 10 จุด ภายในเดือน พ.ค. 49 ซึ่งจะทำให้กลุ่มประมงได้กลับมามีอาชีพทำกินเหมือนเดิม โดยในด้านกลุ่มเกษตรกร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด ก็ได้มีการช่วยเหลือด้วยการลดราคาขายน้ำมันให้แก่สหกรณ์การเกษตรในราคา      1 บาทต่อลิตร 

 

นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า รัฐก็ได้เร่งรัดดำเนินการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ไม่ปรับสูงขึ้น และหากใน 4 เดือนนี้ (ก.พ.-พ.ค.49) ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 4% ก็จะยิ่งทำให้ลดค่าเอฟทีลงได้มากขึ้น

 

ในสถานการณ์น้ำมันแพงที่เกิดขึ้น กระทรวงพลังงานได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้เราต้องยอมรับว่าการที่ประเทศชาติจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการช่วยกันประหยัดพลังงาน และสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมและผลิตพลังงานทดแทนเพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือก ได้แก่ NGV น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่สุด นายวิเศษ กล่าว