เนื้อหาวันที่ : 2013-03-11 11:04:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1487 views

ซังโกะ พร้อมเข้าตลาด mai ไตรมาส 2 เกาะกระแสอุตสาหกรรมยานยนต์โต

ตั้งบล. โนมูระ พัฒนสิน เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำขายหุ้น IPO 44 ล้านหุ้น

ซังโกะ ไดคาซติ้ง ผู้ผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสีฉีดขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ฉีดหล่อความดันสูง  ประกาศเตรียมระดมทุน หลังยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว คาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์      เอ็ม เอ ไอ ได้ภายในไตรมาสที่ 2    ปี 2556   พร้อมแต่งตั้ง บล.โนมูระ พัฒนสิน     เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและเป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 44 ล้านหุ้น  มั่นใจทิศทางธุรกิจสดใสต่อเนื่อง เหตุอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2556 เติบโต คาดว่าจะมีกำลังผลิตรถยนต์ประมาณ 2.5-2.6 ล้านคัน 

นายรัฐวัฒน์ ศุขสายชล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย)     จำกัด (มหาชน)     ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสีฉีดขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ ฉีดหล่อความดันสูง (High-Pressure Diecasting      หรือ HPDC) ให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกลเกษตร และอื่นๆ เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อ         ขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 โดยบริษัทฯ ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์  โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯ ซึ่งคาดว่า จะระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

ทั้งนี้ บมจ.ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสีฉีดในรูปแบบที่ลูกค้ากำหนด ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า โดยกระบวนการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ฉีดหล่อความดันสูง หรือ HPDC  ซึ่งลูกค้าหลักจะอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ คิดเป็นประมาณ 60% ของยอดขายทั้งหมด รองลงมา คือ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์  คิดเป็นประมาณ 20% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คิดเป็นประมาณ 10% ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตรและอื่นๆ โดยกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ยึดถือมาตลอดนับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทฯ เมื่อปี 2539 คือ ความเชี่ยวชาญในการออกแบบแม่พิมพ์ ซึ่งเป็น       Know-How ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ขณะเดียวกัน บริษัทฯยังมีการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับและตอบสนองต่อมาตรฐานการผลิตของลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

เรามี Know-How ทั้งด้านการออกแบบแม่พิมพ์และกระบวนการผลิต ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่กว่าจะได้รับการยอมรับก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากลูกค้าเข้ามาตรวจสอบคุณภาพหลายครั้ง ทั้งด้านการผลิตว่าสามารถผลิตได้ตามกำหนดหรือไม่ ทั้งด้านคุณภาพว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลหรือไม่ และที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ได้ผ่านบทพิสูจน์ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่ง Know-How ทางด้านการออกแบบแม่พิมพ์และกระบวนการผลิต ทำให้เราลดปริมาณความสูญเสียจากการผลิต รวมถึงควบคุมต้นทุนการผลิต และส่งผลให้เราสามารถเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรได้  ขณะที่การพัฒนากระบวนการผลิตจะทำให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในการผลิต ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพิงอุตสาหกรรม เป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายสู่ตลาดอื่นได้ และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการบริหารวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย” นายรัฐวัฒน์กล่าว

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้    ส่วนหนึ่งบริษัทฯ จะนำไปใช้ในการลงทุนขยายพื้นที่โรงงานและกำลังการผลิต เนื่องจากปี 2555 บริษัทฯ ได้ทำการซื้อที่ดินพร้อมอาคารโรงงาน ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ภายในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับโรงงานของบริษัทฯ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินที่เหลือ บริษัทฯ จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ
            
ด้านนายนิมิต  วงศ์จริยกุล  กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ในฐานะ                ที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ กล่าวว่า แบบคำขออนุญาต        เสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในการขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจำนวน 44 ล้านหุ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ก.ล.ต. โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2556

เราเชื่อว่า ในปีนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ยังมีอัตราการเติบโตที่ดี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า กำลังการผลิตรถยนต์ในปี 2556 มีโอกาสทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้ประเมินตัวเลขที่ระดับ 2.5-2.6 ล้านคัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ติด 10 อันดับแรกของโลก ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่า การที่บมจ.ซังโกะ              ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์  เอ็ม เอ ไอ จะช่วยให้ธุรกิจบริษัทฯ ขยายตัวและเติบโต                 ได้อย่างต่อเนื่อง” นายนิมิตกล่าว

ขณะที่ปี 2552-2555 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ ตามลำดับดังนี้  185.45 ล้านบาท  291.26 ล้านบาท 351.82 ล้านบาท และ 474.48 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทฯ ซังโกะ ไดคาชติ้ง (ประเทศไทย)  มีทุนจดทะเบียน 113 ล้านบาท  เป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 88 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 176 ล้านหุ้น   มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์)  หุ้นละ 0.50 บาท และภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 110         ล้านบาท