เนื้อหาวันที่ : 2007-05-28 15:14:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1675 views

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.50 ลดลงต่ำสุด

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.50 ลดลงต่ำสุด สะท้อนภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจชัดเจน ผู้ประกอบการเสนอรัฐสร้างเสถียรภาพการเมืองกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุน คาดอีก 3 เดือนมีแนวโน้มดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.50 ลดลงต่ำสุด สะท้อนภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจชัดเจน ผู้ประกอบการเสนอรัฐสร้างเสถียรภาพการเมืองกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุน คาดอีก 3 เดือนมีแนวโน้มดีขึ้น

.

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2550 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 432 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 77.0 จาก 86.8 ในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 เป็นต้นมา และเป็นค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันนับจากเดือนเมษายน 2549 เป็นต้นมา ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน

.

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ลดลงเป็นผลมาจากปัจจัยด้าน ฤดูกาล เนื่องจากขณะทำการสำรวจในเดือนเมษายน เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีวันทำการน้อย จึงทำให้ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านฤดูกาลแล้ว ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมส่งออก ยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท การขยับขึ้นของราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบ ด้านความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ การขยับขึ้นของราคาน้ำมัน และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้า พบว่า มีแนวโน้มดีขึ้นจากเดือนเมษายน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลก มิได้ชะลอตัวมากอย่างที่วิตก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชียยังขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่ปริมาณการผลิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะยังไม่ขยายตัวมาก เนื่องจากยังมีสินค้าคงคลังรองรับความต้องการ ทำให้การใช้กำลังการผลิตและการจ้างงานยังมีแนวโน้มเติบโตไม่มาก

.

เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของ สภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 30 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น จำนวน 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 77.1 86.9 และ 95.3 ในเดือนมีนาคม เป็น 64.0 80.0 และ 83.4 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ

.

สำหรับบรรยากาศในการลงทุนนั้น พบว่า สาเหตุจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทาง การเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นในการลงทุน ต่างประเทศมากกว่าในประเทศแต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก สะท้อนจากค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังกังวลเกี่ยวกับภาวะสภาพคล่องของกิจการ ซึ่งส่วนหนึ่งถูกกระทบจากความกังวลว่าธนาคารพาณิชย์จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งนี้ ในด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมนั้น ผู้ประกอบการมองว่าแย่ลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนและเวียดนาม

.

ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า รัฐบาลควรเร่งสร้างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมบรรยากาศทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ