การขับเคลื่อนความร่วมมือของประชาคมอาเซียน ถือเป็นหน้าที่ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ที่จะต้องร่วมกันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
การขับเคลื่อนความร่วมมือของประชาคมอาเซียน ถือเป็นหน้าที่ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ที่จะต้องร่วมกันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในทุกด้าน ตลอดจนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้ง จนถึงปัจจุบันต้องอาศัยกลไกการทำงานต่าง ๆ มากมาย ทั้งการหารือในระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรีและคณะกรรมการร่วม แต่อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญคือเลขาธิการอาเซียน ที่ต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้การประสานงานกับทั้ง 10 ประเทศ
สำหรับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี หมุนเวียนใน 10 ประเทศ โดยไทยมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่นี้แล้ว 2 คน คือนายแผน วรรณเมธี อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งปี 2527 – 2529 และคนที่สองที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งคือ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งระหว่าง 1 มกราคม 2551 – 31 ธันวาคม 2555
โดยการรับตำแหน่งของนายสุรินทร์ นั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า ‘ประชาคมอาเซียน’ โดยตลอด 5 ปีในการทำงานของนายสุรินทร์ มีนักวิชาการหลายคนให้ความเห็นว่านายสุรินทร์ได้ใช้ความพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับโลกภายนอก รวมถึงชาติภาคี ASEAN ให้เปิดกว้าง โปร่งใสมากขึ้น
และเชื่อว่าได้มีบทบาทสำคัญในการยกระดับ ASEAN ในเวทีนานาชาติ รวมถึงการกระตุ้นให้ ASEAN ก้าวหน้าไปมาก ตลอดจนสร้างความเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งนี้ ในโอกาสพ้นจากตำแหน่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความชื่นชมที่นายสุรินทร์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขาธิการอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ ราบรื่น ประสบความสำเร็จ และช่วยย้ำถึงบทบาทอันสร้างสรรค์ของไทยในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องติดตามต่อจากนี้คือการทำงานของนาย เลอ เลือง มินห์ ตัวแทนจากเวียดนามที่จะเข้ามารับหน้าที่ต่อ ระหว่างปี 2556-2563 ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งภายใต้การเปลี่ยนที่รวดเร็วของโลกในปัจจุบัน และการที่ต้องพยายามสร้างประชาคมอาเซียนให้ได้ภายในปี 2558
ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ