เนื้อหาวันที่ : 2013-01-25 12:15:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1565 views

ASEAN ต้องดำรงเงินออมและเงินทุน

ความจำเป็นที่ ASEAN ต้องดำรงเงินออมและเงินทุนส่วนเกินเพื่อการลงทุนในภูมิภาค

ตลาดทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากเงินทุนในภูมิภาค ซึ่งเกิดจากสัดส่วนเงินฝากที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งส่วนเกินของเงินออมที่มีอยู่เพื่อการลงทุนภายในภูมิภาคได้มากขึ้น ถ้าหากการพัฒนาตลาดตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นในแต่ละประเทศมีการพัฒนายิ่งขึ้นรวมทั้งมีการยกระดับการลงทุนระหว่างชาติสมาชิกในอาเซียน สถาบันจัดอันดับเครดิต Standard & Poor’s Rating Services (Standard & Poor’s) กล่าวในวันนี้ในงานสัมมนา ตลาดทุนอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นโดย Standard & Poor’s ร่วมกับ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด

 ในปัจจุบัน อาเซียนมีขนาดของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product_GDP) โดยรวมถึง สองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการขยายตัวของ GDP ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาระหว่าง 6% ถึง 7% ต่อปี ภายหลังจากการรวมตัวของอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ขนาดของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะใหญ่เทียบเท่ากับ 1 ใน 10 อันดับแรกของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก Standard & Poor’s เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนยังสดใสเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ภูมิภาคอื่น ๆ ในโลกเผชิญอยู่ Standard & Poor’s ยังคาดด้วยว่าอัตราการขยายตัวที่แท้จริงของ GDP ในประเทศที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะขยายตัวในช่วง 4% ถึง 6% ในปี 2556 ถึง 2557

ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า “ปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเงินโลกปัจจุบัน ทำให้เงินทุนหลั่งไหลเข้ามาในเอเชียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ตลาดทุนในอาเซียนพัฒนาและเกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันได้รวดเร็วขึ้น นอกเหนือปัจจัยการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังจะมาถึงในปี 2558

การเชื่อมโยงตลาดทุนภายใต้ความร่วมมือของ ก.ล.ต. อาเซียน หรือ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ระดมทุนและนักลงทุนเข้าถึงการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามพรมแดนภายในอาเซียนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นแล้ว ยังเป็นการขยายฐานผู้ลงทุนและประเภทของสินค้าทางการเงินซึ่งทำให้ตลาดทุนมีความกว้างและความลึกยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ตลาดทุนของแต่ละประเทศแข็งแกร่ง ส่งผลให้ตลาดทุนอาเซียนมีสภาพคล่อง ขนาด และศักยภาพ พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเชื่อมโยงในระดับโลกต่อไป

โดยในด้านการออกและเสนอขายตราสารหนี้ข้ามพรมแดนในอาเซียน ซึ่งริเริ่มโดย ก.ล.ต. อาเซียน จะให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการระดมทุนทั้งในและนอกอาเซียนในการเข้าถึงแหล่งทุนได้กว้างขึ้นในภูมิภาค ผู้ที่ต้องการออกและเสนอขายตราสารหนี้ในหลายประเทศพร้อมกันสามารถจัดทำเอกสารการเสนอขายเพียงชุดเดียว ก่อให้เกิดความสะดวกและลดต้นทุนไปพร้อมกัน อย่างไรก็ดี ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้กำกับดูแลฝ่ายเดียว แต่เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นต่อไป

การเชื่อมโยงตลาดตราสารหนี้ผ่านการยกระดับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลสู่สากล นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในสินค้าตลาดทุนอาเซียน และดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในอาเซียนแล้ว การจัดอันดับความน่าเชื่อโดยใช้ ASEAN scale rating จะเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดทุนมากยิ่งขึ้น”

ดร. สันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า “ตลาดตราสารหนี้ในอาเซียน 6 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม มีการเติบโตอย่างน่าพอใจ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 มีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วเท่ากับ 17.8% ตามข้อมูลของ ADB และในส่วนของประเทศไทยนั้น ตลาดตราสารหนี้มีการขยายตัวอย่างมาก

 โดยจากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) นั้น มูลค่าตราสารหนี้คงเหลือ ณ สิ้นปี 2555 เท่ากับ 8.4 ล้านล้านบาท (หรือเทียบเท่ากับ 273,589 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขยายตัวจากปี 2554 เท่ากับ 20.6% โดยมีตราสารหนี้ออกใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมเท่ากับ 10.3 ล้านล้านบาท (หรือเทียบเท่ากับ 333,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยเป็นตราสารหนี้ภาคเอกชนเท่ากับ 13.1% ในขณะที่การระดมทุนโดยการออกตราสารทุนในตลาดแรก (Public Offering) มีมูลค่าเท่ากับ 127,618 ล้านบาท (หรือเทียบเท่ากับ 4,116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ณ สิ้นปี 2555 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Securities Exchange of Thailand_SET) มีมูลค่าคงเหลือของหลักทรัพย์รวมเท่ากับ 11.8 ล้านล้านบาท (หรือเทียบเท่ากับ 381,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

อย่างไรก็ดี บริษัทที่มีการจัดอันดับเครดิตกับสถาบันจัดอันดับเครดิตในประเทศยังมีจำนวนน้อยมาก คือเท่ากับ 20% ของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนใน SET ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากไม่มีความต้องการออกตราสารหนี้เพื่อระดมเงิน เนื่องจากใช้เงินทุนส่วนมากจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ยังไม่เห็นประโยชน์ของการจัดอันดับเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเนื่องจากการจัดอันดับเครดิตจะเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดทุน เป็นการกระจายแหล่งที่มาของเงินทุนของกิจการ และช่วยลดต้นทุนทางการเงิน รวมทั้งทำให้เกิดเสถียรภาพของต้นทุนทางการเงินในระยะยาว

นอกจากนี้ ข้อมูลด้านความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากสถาบันจัดอันดับเครดิตยังเป็นข้อมูลที่นักลงทุนโดยทั่วไปให้ความเชื่อถือ และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคได้ในอนาคต เนื่องจากสถาบันจัดอันดับเครดิตในอาเซียนต่างมีการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาแนวปฏิบัติในการจัดอันดับเครดิตอย่างเป็นสากล และการเปิดเผยข้อมูลด้านการจัดอันดับระหว่างประเทศในภูมิภาค ความร่วมมือระหว่างสถาบันจัดอันดับเครดิตในประเทศเอเชียที่เรียกว่า ACRAA หรือ Association of Credit Rating Agencies in Asia นั้น เป็นเพียงก้าวแรกของความร่วมมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคนี้ร่วมกันในอนาคต

ในส่วนของทริสเรทติ้ง ซึ่งได้ร่วมมือกับ Standard & Poor’s ในการพัฒนาความรู้ด้านเทคนิคการจัดอันดับเครดิต ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งในการสนับสนุนบริการจัดอันดับเครดิตให้สามารถสนองตอบต่อการพัฒนาตราสารหนี้ประเภทใหม่ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการพัฒนาบริการจัดอันดับเครดิตในภูมิภาคอาเซียน”

 มร.สุรินเดอร์ คาเทอพาเลีย (Surinder Kathpalia) กรรมการผู้จัดการ Standard & Poor’s ประจำอาเซียน ระบุว่า ปัจจุบันอาเซียนมีเงินออมโดยรวมมากกว่าเงินลงทุนนั้น แสดงถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องหาแนวทางที่จะดำรงเงินออมและเงินทุนส่วนเกินที่มีอยู่ไว้ในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นทางการเงินของภูมิภาคนี้ที่จะเกิดขึ้นสำหรับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของประชากรในภูมิภาค

จากการศึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชียในปี 2555 พบว่า การออมโดยรวมของประเทศในอาเซียนมีปริมาณมากกว่าการลงทุนในประเทศโดยรวมของประเทศในภูมิภาคนี้ อยู่ระหว่าง 5% ถึง 10% ของ GDP ในขณะเดียวกัน ADB ประมาณการว่าความต้องการเงินลงทุนเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างปี 2555 และ 2563 เท่ากับแปดล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“ตลาดทุนอาเซียนเป็นตลาดที่มีการเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนในต่างประเทศ แต่ยังมีสิ่งที่จะทำได้มากกว่านี้ในการที่จะระดมเงินทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและตอบสนองต่อความต้องการในการเจริญเติบโตของภูมิภาค” มร.คาเทอพาเลีย กล่าวเพิ่มเติม

มร.คาเทอพาเลีย กล่าวว่า Standard & Poor’s ก็กำลังสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวข้างต้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการขยายขอบเขตการจัดอันดับเครดิตของภูมิภาคอาเซียนให้ครอบคลุมผู้ออกตราสารหนี้มากกว่า 120 ราย จุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความน่าเชื่อถือของเครดิตในภูมิภาค ทั้งนี้ การจัดอันดับเครดิตของภูมิภาคอาเซียน สะท้อนความเห็นที่เป็นกลางเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน โดยเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน อันดับเครดิตระดับภูมิภาคยังช่วยขยายขอบเขตของการลงทุนจากเดิมที่จำกัดอยู่เฉพาะการลงทุนในประเทศเท่านั้น มาเป็นการลงทุนในระดับภูมิภาค และสนับสนุนการระดมเงินออมในอาเซียน

Standard and Poor’s ได้เผยแพร่บทความ “Keeping It In The Family: Why ASEAN Debt Markets Need Greater Regional Investor Participation” ในสัปดาห์นี้ ซึ่งกล่าวถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน และโอกาสที่ภูมิภาคนี้จะสามารถดำรงเงินทุนส่วนเกินไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ประสงค์จะได้รับบทความดังกล่าวนี้สามารถติดต่อกับ media representative ตามรายชื่อด้านล่าง