เนื้อหาวันที่ : 2007-05-25 14:54:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1730 views

รัฐฯ พอเพียง เดินหน้าเจรจาเปิดตลาดสินค้า FTA ไทย-อินเดีย

รัฐบาลพอเพียง ผลักดันอินเดียให้เปิดตลาดสินค้าส่วนที่เหลือ พร้อมให้รับพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าในเงื่อนไข การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร 6 หลัก ควบคู่กับสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม 35% พยายามผลักดันให้อินเดียเปิดตลาดโดยลดภาษีลงมาเป็น 0% ให้ครอบคลุมสินค้ามากที่สุด

รัฐบาลพอเพียง ผลักดันอินเดียให้เปิดตลาดสินค้าส่วนที่เหลือ พร้อมให้รับพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าในเงื่อนไข การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร 6 หลัก ควบคู่กับสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม 35% พยายามผลักดันให้อินเดียเปิดตลาดโดยลดภาษีลงมาเป็น 0% ให้ครอบคลุมสินค้ามากที่สุด รวมทั้งเงื่อนไขในเรื่องกรอบเวลา ซึ่งต้องได้ประโยชน์มากกว่ากรอบอาเซียน

..

นายชนะ  คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการประชุม TNC ไทย-อินเดีย ว่า  ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม TNC ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 12 ในวันที่ 28-31 พฤษภาคม 2550 ณ จังหวัดภูเก็ต   โดยจะมีการหารือในเรื่องรูปแบบและวิธีการลดภาษีสินค้า  กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า   มาตรการเยียวยาทางการค้า   ความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัย   การค้าบริการ การลงทุน และกลไกระงับข้อพิพาททางการค้า

..

การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหลังจากหยุดชะงักมาเป็นเวลากว่าปี  โดยล่าสุดในการประชุม TNC ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 3-5 เมษายน ที่ผ่านมา ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ทั้งสองฝ่ายได้ผลักดันการเจรจาให้มีความคืบหน้าอีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการค้าสินค้า โดยตั้งเป้าหมายให้การเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้การลดภาษีเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2550 ต่อไป

..

"หลังจากที่ไทยได้พยายามผลักดันให้อินเดียลดจำนวนรายการสินค้าที่จะไม่นำมาลดภาษีกว่า 1,099 รายการลง เพื่อให้การเปิดตลาดสินค้าครอบคลุมรายการสินค้าจำนวนมากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ล่าสุด อินเดียลดจำนวนรายการสินค้าที่จะไม่นำมาลดภาษีลงเหลือเพียง 489 รายการ และจะเปิดตลาดสินค้าโดยลดภาษีเหลือ 0% จำนวนกว่า 80% ของพิกัดศุลกากร อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาเปิดตลาดสินค้าส่วนที่เหลือ (นอกเหนือจาก EHS 82 รายการ) ไทยคงต้องพยายามผลักดันให้อินเดียเปิดตลาดโดยลดภาษีลงมาเป็น 0% ให้ครอบคลุมสินค้ามากที่สุด รวมทั้งเงื่อนไขในเรื่องกรอบเวลา ซึ่งต้องได้ประโยชน์มากกว่ากรอบอาเซียน" นายชนะกล่าว

..

สำหรับการเจรจากฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดตลาดการค้าสินค้านั้น  ทั้งสองฝ่ายตกลงใช้เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร    ควบคู่กับสัดส่วนมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ เป็นเกณฑ์ทั่วไปการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้า แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยไทยพยายามผลักดันให้อินเดียยอมรับเงื่อนไขการเปลี่ยนพิกัดศุลกากร  6 หลัก ควบคู่กับสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม 35%  เป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และจะจัดทำกฎเฉพาะสินค้า (Product Specific Rules: PSRs) ให้อินเดียพิจารณาด้วย