เนื้อหาวันที่ : 2013-01-15 12:05:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2111 views

ทิศทางการจัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐสามารถเลี่ยงเส้นตายมาตรการขึ้นภาษีและตัดลดค่าใช้จ่ายแบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้และการขาดดุลงบประมาณของประเทศ

นงลักษณ์ อัจนปัญญา ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐ ในหนังสือพิมพ์รายวันโพสต์ทูเดย์ ประจำวันพุธที่ 2 มกราคม ไว้น่าสนใจเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณ จนอาจนำไปสู่หน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) และกล่าวว่า วุฒิสภาของสหรัฐได้ขานรับข้อเสนอร่วมกันระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบามา กับพรรครีพับลิกัน ที่จะจัดการกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณ โดยสหรัฐสามารถเลี่ยงเส้นตายมาตรการขึ้นภาษีและตัดลดค่าใช้จ่ายแบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้และการขาดดุลงบประมาณของประเทศ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วยต่อลมหายใจให้มีเวลาเพียงพอให้แสวงหาหนทางจัดการยุติปัญหาให้ลุล่วงโดยเร็ว

ปัญหาการจัดเก็บ การยกเว้น หรือการตัดลดภาษียังเป็นประเด็นหลักที่ 2 พรรคใหญ่ยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างมาตรการรัดเข็มขัดแบบเข้มงวดเพื่อลดการขาดดุล หรือการเดินหน้าเป็นหนี้ด้วยการทุ่มเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และประเด็นปัญหาปริมาณหนี้มหาศาล ตลอดจนเพดานหนี้ของตนเองเพื่อหลบเลี่ยงสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศ มีผลทำให้เสียเครดิตจนต้องสูญเสียความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนทั่วโลกไป ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้การเจรจายืดเยื้อจากเรื่องการยกเครื่องระบบการจัดเก็บภาษี โดยประธานาธิบดี โอบามา ต้องการเก็บภาษีกับผู้มีรายได้สูงเพิ่มเติม ในขณะที่ฝั่งรีพับลิกันไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน

ข้อตกลงภาษีล่าสุด รัฐบาลสหรัฐจะจัดเก็บ 39.6 เปอร์เซ็นต์ในส่วนของบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 12 ล้านบาท/ปี และส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้เกิน 13.5 ล้านบาท/ปี ขณะที่รายได้ของบริษัท องค์กร รวมถึงเงินปันผลจะมีการเก็บภาษีเป็น 20 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 15 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ จะเดินหน้าขึ้นภาษีมรดกอสังหาริมทรัพย์จาก 35 เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ พร้อมขยายเวลามาตรการการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยเหลือครอบครัวหรือผู้มีรายได้น้อย และบรรดาชนชั้นกลางออกไปอีก 5 ปี ซึ่งตราบใดที่สหรัฐยังไม่ปรับปรุงระบบกฎเกณฑ์การจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน และยังมีช่องว่างให้ผู้เสียภาษียื่นขอลดหย่อนหรือขอคืนภาษีได้มากมาย การผลักดันการขึ้นภาษีครั้งนี้ย่อมไม่เกิดประโยชน์

สำหรับประเด็นเรื่องการตัดลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้ง 2 พรรคต่างเห็นชอบให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 2 เดือน พร้อมชดเชยมาตรการตัดลดด้วยการรัดเข็มขัดลดการใช้จ่ายในงบประมาณด้านการทหารและสังคมครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งจากจำนวนรายได้ที่เข้าสู่รัฐ แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์วิตกกันมากคือ สภาคองเกรสยังไม่บรรลุรายละเอียดการดำเนินการตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในรูปความช่วยเหลือและสวัสดิการสังคมกับผู้ตกงาน โครงการประกันสุขภาพ โครงการเงินช่วยเหลือแพทย์ในโครงการประกันสุขภาพ ตลอดจนโครงการเงินบำนาญ ประเด็นเหล่านี้ต้องการเวลามากกว่า 2 เดือนที่เลื่อนออกไป ประเด็นสุดท้ายนักวิเคราะห์วิตกกันคือ เรื่องปริมาณหนี้ที่เฉียดพิกัดจากระดับเพดานหนี้ที่กำหนด ซึ่งกินเวลานานจนทำให้เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้มาแล้ว เมื่อบวกกับข้อแลกเปลี่ยนจากพรรครีพับลิกันที่ยื่นคำขาดให้รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาต้องตัดลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งพรรคเดโมแครตต่อต้านมาตลอดแลกกับการอนุมัติปรับเพดานหนี้

หากเปรียบการจัดการหน้าผาการคลังเป็นการวิ่งมาราธอน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจากหลายสำนักต่างยอมรับว่า เป็นการวิ่งมาราธอนในระยะทางแสนไกลและนานแสนนาน โดยยังมองไม่เห็นเส้นชัยที่ชัดเจน และนับจากนี้ไปรัฐบาลนานาประเทศ และนักลงทุนทั่วโลกต่างตั้งหน้าตั้งตาลุ้นกับทิศทางการจัดการแก้ไขปัญหากันต่อไป

เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์
ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์