เนื้อหาวันที่ : 2013-01-08 08:09:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2344 views

เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนต้อนรับปี พ.ศ.2556

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนต้อนรับปี พ.ศ.2556

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอุตสาหกรรมหนึ่งของโลก เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ เนื่องจากมีแรงขับเคลื่อนทางการตลาดในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ แม้ว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มต้นเมื่อทศวรรษที่ 50 หรือหลังจากมีการกำเนิดอุตสาหกรรมยานยนต์มาแล้วกว่า 40 ปี

 ดังนั้นเมื่อเทียบกับอายุของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แล้วนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลกมากที่สุด ที่กล่าวเช่นนั้นได้ก็เนื่องจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาหลักอื่นๆ ของโลก ดังจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ หรือ อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่างก็ต้องมีชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประกอบอยู่ด้วย

จากแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สรุปว่า อนาคตภาคอุตสาหกรรมก็จะยังคงมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเนื่องจากเป็นภาคที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดกระบวนทัศน์และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในภาพรวม และรายสาขา ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของกระแสโลก (Global Context)

 อันประกอบไปด้วยการสร้างคุณค่า ด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีรวมถึงปรับศักยภาพหลักของไทย (Core Competency) ให้สอดคล้องกับความต้องการในระดับโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความสมดุล และความเกื้อหนุนของการพัฒนาใน 4 มิติ ได้แก่ มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม มิติทางด้านสิ่งแวดล้อม และมิติทางด้านทุนมนุษย์อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ดังนั้นอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาการกำหนดตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ Positioning ของตนเองใหม่ในการที่ไทยจะเข้าสู่การเป็น AEC รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ที่สำคัญของโลกด้วย ตลอดจนแนวทางการสร้างเครือข่ายความเป็นพันธมิตรของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยกับ AEC และภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีทิศทางที่ชัดเจนว่าด้านใดที่ไทยมีความได้เปรียบในการเป็นผู้นำใน AEC/ภูมิภาคอื่น ๆ จะได้มีการดำเนินการเชิงรุกที่จะผลักดันและขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ส่วนด้านใดที่ไทยจะต้องป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงได้จัดทำ“โครงการศึกษาการกำหนด Positioning และการสร้างเครือข่ายพันธมิตร อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยกับ AEC และภูมิภาคอื่น ๆ ที่สำคัญเตรียมพร้อมและเสริมสร้างให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และส่วนใดที่จะต้องร่วมมือกันกับ AEC ในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ จะได้ดำเนินการสร้างให้เกิดความร่วมมือกันต่อไปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์โครงการ
- เพื่อกำหนด Positioning อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยใน AEC และภูมิภาคอื่นๆ ที่สำคัญ

- เพื่อให้มีแนวทางและกลยุทธ์ในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยกับ AEC และภูมิภาคอื่นๆ ที่สำคัญ

- เพื่อให้มีนโยบายและมาตรการในการดำเนินการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ตาม Positioning ที่กำหนดไว้
เป้าหมายของโครงการและตัวชี้วัด
เป้าหมาย

- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมี Positioning และแนวทางการสร้างเครือข่ายทั้งในระดับ AEC และภูมิภาคอื่น ๆ ที่สำคัญ

- การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในเชิงรุก เชิงรับ และการสร้างความร่วมมือระหว่าง AEC และภูมิภาคอื่น ๆ ที่สำคัญ
ตัวชี้วัด

- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีวิธีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้ทันสมัยสอดคล้องกับสภาพการแข่งขันและความเป็นเครือข่ายพันธมิตรทั้งใน AEC และภูมิภาคอื่น ๆ ที่สำคัญ

กิจกรรมหลัก
การจัดสัมมนาโครงการ กำหนดจัด 2 ครั้ง (เปิดและปิดโครงการ)
การจัดสัมมนาครั้งที่ 1
เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการนี้และนำเสนอโมเดลทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ผลกระทบต่อห่วงโซ่คุณค่าที่มีผลต่อผู้ประกอบการในประเทศ ร่วมรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการรวมทั้งการสร้างความตระหนักในการเตรียมความพร้อมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่อการมีผลบังใช้ของประชาคมเศรษฐกิจ-

อาเซียน (AEC) โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งจากภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคการศึกษามาให้ความรู้ในการสัมมนา โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมการสัมมนาจำนวน 80 คน

การจัดสัมมนาครั้งที่ 2
เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ โดยมีเป้าหมายชี้แจงให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ได้ทราบถึงยุทธศาสตร์ในการกำหนด Position ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยในระดับชาติ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 3) อุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลัง ที่มีในกลุ่มประเทศ AEC และภูมิภาคที่สำคัญอื่นๆ ของตลาดโลก ได้แก่ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ ภูมิภาคยุโรป และภูมิภาคเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน) โดยมีเป้าหมายผู้ประกอบการเข้าร่วมสัมมนาจำนวน 100 คน

 ระยะเวลาดำเนินงานและแผนการดำเนินงาน
ระยะเวลาศึกษาโครงการ จำนวน 9 เดือน ปี พ.ศ.2556