เนื้อหาวันที่ : 2012-12-14 16:32:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1801 views

รัฐเดินเครื่องพลังงานทดแทนดันโรงไฟฟ้า หญ้าเลี้ยงช้าง

กระทรวงพลังงานเอาจริงนโยบายพลังงานทดแทน หนุนผลิตไฟฟ้าจาก หญ้าเลี้ยงช้าง

กระทรวงพลังงานเอาจริงนโยบายพลังงานทดแทน หนุนผลิตไฟฟ้าจาก "หญ้าเลี้ยงช้าง" ชี้ปลูกง่ายแถมสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากกว่ามันสำปะหลัง ดึงท้องถิ่นร่วมวงสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนกระจายผลประโยชน์ให้ทุกฝ่าย


นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา "Green Energy Forum พลังงานสีเขียว ดุลยภาพสู่ความยั่งยืน" จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ รี่มกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่าแนวนโยบายพลังงานที่สำคัญคือ การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ โดยกระทรวงพลังงานจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ หรือหญ้าเลี้ยงช้าง ซึ่งหญ้าชนิดนี้เพาะปลูกง่าย และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากกว่าการปลูกมันสำปะหลัง


ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะต้องกองทุนสนับสนุนด้านการเงินให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สหกรณ์การเกษตรและเกษตรการรายย่อย ให้เข้ามาร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเกษตรกรเป็นผู้ปลูกหญ้า และโรงไฟฟ้าจะเข้ามารับซื้อในราคาประกัน รวมทั้งเป็นผู้เก็บเกี่ยวเอง ซึ่งจะเป็นการกระจายผลประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย อย่างเป็นธรรม


สำหรับเป้าหมายของการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์นั้นในเบื้องต้นจะส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 7 พันเมกะวัตต์ จากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนทั้งประเทศ 20% จากเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564)


ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงสร้างราคาพลังงานที่สะท้อนต้นทุนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยส่งเสริมการประหยัดและประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งมีผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าการสร้างโรงไฟ้า หรือการส่งเสริมพลังงานทดแทน ดังนั้น รัฐบาลควรจะเดินหน้านโยบายปรับราคาก๊าซหุงต้มเพื่อเป็นตัวอย่างว่าราคาพลังงานสามารถปรับขึ้นได้


ขณะที่นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.มีแผนที่จะผลักดันให้รัฐบาลกลับมาส่งเสริม การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำอีกครั้ง เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถบังคับให้ผลสบู่ดำสุกพร้อมทั้งกว่า 80% ทำให้ลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยว จนทำให้ต้นทุนการผลิตทั้งหมดเท่ากับน้ำมันปาล์ม