เนื้อหาวันที่ : 2012-12-14 10:52:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1574 views

กสิกรฯคงเป้าจีดีพีปี56ที่5% อุปโภคในประเทศแผ่ว-ส่งออกฟื้น

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ที่ 5% โดยการส่งออกอาจเร่งตัวขึ้นในอัตรา 12.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณเศรษฐกิจไทยปีหน้าไว้ที่ 5% ชะลอลงจากปีก่อนที่โต 5.7% จากการอุปโภค-บริโภคลงทุนที่ชะลอตัว หลังเด้งขึ้นจากฟื้นฟูน้ำท่วมแต่ฟากการส่งออกที่ฟื้นตัวเป็นปัจจัยหนุน จับตาสหรัฐฯแก้หน้าผาการคลัง คาดกระทบน้อย

นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2556 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลง หลังจากการใช้จ่ายในประเทศผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้แรงขับเคลื่อนหลักคาดว่าจะมาจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ โดยคาดว่าจีดีพีของไทยจะเติบโตในกรอบ 4.5-5.5% หรือมีค่ากลางที่ระดับ 5% การอุปโภคบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 5.7%การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 7.1% ชะลอตัวจากปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 11.7% ขณะที่การส่งออกขยายตัว 12.5% และนำเข้าขยายตัว 12.5%เช่นกัน

ด้านปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจ ในส่วนของต่างประเทศยังคงเป็นการแก้ไขวิกฤตหน้าผาการคลัง ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะตกหน้าผาการคลังเต็มรูปแบบในปี 2556 ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มาตรการรัดเข็มขัดของภาครัฐที่ยังคงต้องเริ่มในปีหน้า อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในกรอบที่ชะลอลง ขณะที่วิกฤตยูโรโซนเริ่มมีสัญญาณของเสถียรภาพ โดยในบางประเทศในแถบยุโรป อาทิ กรีซ และสเปนที่น่าจะถึงจุดต่ำสุดจากวิกฤตไปแล้ว แต่ในส่วนของอิตาลี และเยอรมันยังคงต้องจับตาดูต่อไป แต่ประเทศไทยจะได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และจีนที่ยังเติบโตได้ดี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2556 ที่ระดับ 1.9% หรืออยู่ในกรอบ 1.4-2.4% จากปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 2.2% เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรปีหน้ายังคงติดลบ 0.2% หรืออยู่ในกรอบ ติดลบ 0.7- บวก0.3% จากปีนี้ที่ติดลบ0.5% ขณะที่เศรษฐกิจจีนเติบโต 8.1% หรืออยู่ในกรอบ 7.5-8.5% จากปีนี้ที่เติบโต 7.8%

 ส่วนปัจจัยภายในประเทศยังคงต้องรอดูการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ หากแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการบริหารจัดการน้ำมีความคืบหน้า ก็จะเป็นแรงเสริมการใช้จ่ายในประเทศอีกทางหนึ่ง และปัจจัยการเมืองในประเทศ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น คาดว่าจะขยับสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ระดับ2.4% จากประมาณปีนี้ที่ระดับ 2.1% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.3% จากปีนี้ที่ 3% จากปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ต้นทุนค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 เป็นต้นไป รวมถึงการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐและการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า Ft รอบใหม่ โดยค่าแรงงานที่ปรับขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในระดับที่แตกต่างกัน ตามพื้นและประเภทธุรกิจ แต่โดยรวมคาดว่าจะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อราว 0.4%

"เราคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ที่ 5% โดยการส่งออกอาจเร่งตัวขึ้นในอัตรา 12.5% ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวจากฐานที่สูงในปี 2555 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้จะจะขยับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับที่ไม่น่ากังวล"