เนื้อหาวันที่ : 2012-12-14 10:45:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2476 views

Green Industry หรือ No Industry

เศรษฐกิจสีเขียวจึงมิใช่เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจอย่างที่หลายคนเข้าใจทางตรงกันข้าม มันคือกลไกในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในแนวใหม่

วิฑูรย์ สิมะโชคดี  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม


ทุกวันนี้ภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่ง และการจ้างงานของประเทศเราเป็นอย่างยิ่ง แต่ภาคอุตสาหกรรมทุกวันนี้กลับเผชิญกับความท้าทาย ไม่เพียงแต่คู่แข่งทางธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงความท้าทายที่จะต้องทำให้สังคมและชุมชนโดยรอบ ยอมรับและอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข โดยการประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย

สถานประกอบการและโรงงานจึงต้องระมัดระวังในการดำเนินกิจการของตนเอง ไม่เฉพาะแต่เรื่องที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้นแต่ยังต้องประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการหรือขยายการดำเนินกิจการของตนเองในอนาคตด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

แนวทางประกอบกิจการเพื่อให้เป็น"อุตสาหกรรมสีเขียว" จึงเป็นคำตอบของการดำรงอยู่ของภาคอุตสาหกรรมทั้งในวันนี้และวันหน้าเนื่องจากการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวหมายถึง "อุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน"

คำว่า "การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง"หรือ "Continuous Improvement" ในความหมายของอุตสาหกรรมสีเขียว จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันในเจตนารมณ์ของธุรกิจอุตสาหกรรมว่า พร้อมที่จะปรับปรุงและแก้ไขปัญหา รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และปรับปรุงกระบวนการทำงาน ไม่ให้สร้างปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้

ในส่วนของภาครัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่างก็มีนโยบายและมาตรการที่ส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยอยู่แล้ว

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผลสัมฤทธิ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขระหว่างโรงงานกับชุมชน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมประชาชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยกันทำให้ระบบ"เศรษฐกิจสีเขียว" สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

"เศรษฐกิจสีเขียว" (Green Economy) ถูกนิยามโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP) ว่าเป็นเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และความเท่าเทียมทางสังคมไปพร้อมๆ กับเพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการมีส่วนร่วมของสังคม หรือหากจะแปลให้สั้นๆ แล้ว "เศรษฐกิจสีเขียว" ก็คือเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมคาร์บอนต่ำและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

เศรษฐกิจสีเขียวจึงมิใช่เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจอย่างที่หลายคนเข้าใจทางตรงกันข้าม มันคือกลไกในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในแนวใหม่ เป็นตัวสร้างงานที่มีเกียรติ และเป็นกลยุทธ์สำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนซ้ำซาก

การเติบโตของรายได้และการจ้างงานในเศรษฐกิจสีเขียว จะถูกขับเคลื่อนโดยการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งไปลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความสามารถในการทำหน้าที่ของระบบนิเวศ

ตัวอย่างของเทศบาลนครคิตะคิวชู (Kitakyushu) ตั้งอยู่ในจังหวัดฟูกูโอกะ (Fukuoka) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้เกิดมลภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำและอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ถึงขนาดกล่าวกันว่าแม้แต่เชื้อแบคทีเรียยังไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย ประชาชน รัฐบาลส่วนท้องถิ่น รัฐบาลส่วนกลาง และเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมในพื้นที่ จึงร่วมมือกันในการหาทางแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ โดยมีการให้ความรู้ด้านมลพิษแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งให้มีการศึกษาดูงานภายในเขตอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือในการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ (หรือก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด) และเทศบาลอำนวยความสะดวกในการติดตามตรวจสอบและบำบัดของเสียจากเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งการทุ่มงบประมาณและการสร้างนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างเทคโนโลยี ทรัพยากรบุคคลและความรู้ความชำนาญด้านอุตสาหกรรมพื้นฐาน ด้วยนโยบายความร่วมมือดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาร่วมศตวรรษเทศบาลนครคิตะคิวชูจึงกลายเป็น "เมืองนิเวศน์" หรือ "Eco town" และกลับมาเป็นเมืองน่าอยู่อีกครั้ง

แต่ความเป็นจริงของบ้านเราในวันนี้ ก็คือความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างโรงงานกับชุมชนโดยรอบโรงงานขยายวงกว้างขึ้นทุกที โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะสามารถอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่กำจัดมลพิษสิ่งแวดล้อมได้ หรือลดระดับปัญหาจนอยู่ในมาตรฐานสากลได้ แต่ชุมชนก็ไม่วางใจและไม่เชื่อในคุณภาพของผู้ประกอบกิจการโรงงาน จึงแทบจะไม่มีโรงงานที่ไม่ถูกร้องเรียน จนขยายผลสู่การชุมนุมประท้วงไม่ให้โรงงานตั้งใหม่ได้

ทุกวันนี้ สถานประกอบการ โรงงาน และสังคมไทย จึงต้องเลือกระหว่างการมีโรงงานที่เป็น "Green Industry" หรือจะไม่มีโรงงานใหม่อีกต่อไป "No Industry" ครับผม !