เนื้อหาวันที่ : 2012-12-13 10:07:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1697 views

พลังงานกับการเป็นศูนย์กลางอาหารของโลก

การผลิตวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทางของ Value Chain ของคำว่า อาหาร เท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปและการตลาดของ อาหาร ด้วย

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางหลายๆ ด้านนั้น การเป็นศูนย์กลางอาหารก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องรักษาสถานภาพของความเป็นผู้นำให้ได้ในระยะยาว ซึ่งคงมิได้มีประเด็นเพียงแค่การผลิตวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทางของ Value Chain ของคำว่า "อาหาร" เท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปและการตลาดของ "อาหาร" ด้วย

ทั้งนี้หากลองมองดูการแข่งขันกันเรื่องอาหารเป็นการเฉพาะหลายคนคงจะได้ยินคำว่า "Food Safety : From the farm to the fork" ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นคุณภาพของอาหารตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตอาหารไปจนถึงปลายน้ำของการบริโภคอาหาร ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงส้อมเข้าปาก ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเมื่อรับประทานอาหารแล้วจะมีความปลอดภัย หรือหากเกิดเหตุการณ์ใดที่พึงประสงค์ขึ้นก็สามารถที่จะตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าแหล่งผลิตอาหารหรือวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิตอาหารเหล่านั้นมีความบกพร่องที่ตรงไหน หรือมีจุดใดใน Value Chain ที่มีความเสี่ยง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาในเรื่องของการควบคุมคุณภาพของ "อาหาร" ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางนั้น ในโลกปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยในการผลิตอาหารแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานจำนวนไม่น้อยทีเดียวในกระบวนการผลิตอาหาร

ประเทศไทยซึ่งวางแผนที่จะเป็นผู้นำทางด้านอาหารควรจะต้องคำนึงถึงประเด็นของพลังงานที่จะใช้ในอุตสาหกรรมอาหารให้รอบคอบ ควรจะหยิบยกเอาเรื่องของการวางแผนด้านพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมอาหารเป็นการเฉพาะด้วย ดังที่ประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วเริ่มให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับนานาชาติเช่น Food and Agriculture Organization (FAO) ขององค์กรสหประชาชาติก็ได้ทำการศึกษาที่เรียกว่า "Energy-Smart Food Production and Use" ซึ่งเป็นการศึกษาถึงแนวทางการผลิตและใช้พลังงานอย่างฉลาดของการผลิตอาหารทั้งระบบของโลก โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งทำให้ทราบว่าการผลิตอาหารทั้งระบบใช้พลังงานสูงถึง 30% ของพลังงานที่มี และกว่าร้อยละ 70 ของพลังงานที่ใช้ระบบการผลิตอาหารนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่วัตถุดิบหรืออาหารได้ออกจากฟาร์มไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การขนส่ง การแปรรูป การบรรจุ การเก็บ การเตรียม และการตลาด และที่น่าสนใจคือพลังงานบางส่วนที่ได้ถูกใช้ไปแล้วในการผลิตอาหารกลับสูญเสียไปเลยเนื่องจากการที่อาหารที่ผลิตออกมาถูกทิ้งไป ซึ่งในแต่ละปีมีอาหารถูกทิ้งคิดเป็นจำนวนประมาณ 1,300 ล้านตันต่อปี (FAO)

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของการเติบโตของตลาดอาหารที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากประชากรในโลกเพิ่มมากขึ้น โดย FAO คาดการณ์ว่าจะต้องมีการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอีกมากถึง 60%ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งหมายถึงความต้องการด้านพลังงานในอนาคตจะยิ่งท้าทายมากยิ่งขึ้นในการที่จะหาพลังงานมารองรับปริมาณการผลิตที่มากมายมหาศาลขนาดนั้น

ประเทศไทยคงจะต้องหันมามองเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานกันให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และควรจะมีการวิเคราะห์ Value Chain ของอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบในหลากหลายสาขาของอาหารโดยสะท้อนให้เห็นแง่มุมของการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตอาหารทั้งระบบอย่างชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลในเชิงลึกมากพอเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ในการวางแผนด้านพลังงานสำหรับการเป็นศูนย์กลางอาหารของโลกกันครับ