เนื้อหาวันที่ : 2012-12-03 09:01:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4625 views

ผลวิจัยชี้เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัว นายจ้างเตรียมปรับเงินเดือน ขึ้นปีหน้า

อัตราการขึ้นเงินเดือนในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 2.3 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย

- อัตราการขึ้นเงินเดือนในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 2.3 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย
- กว่า 2 ใน 3 ของบริษัทเอกชนมีมุมมองต่อสถานการณ์ทางธุรกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่แล้ว
- กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจมีแผนจะจ้างพนักงานเพิ่มภายในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยจะมุ่งเน้นไปที่พนักงานในฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด

ข้อมูลจากการสำรวจ Asia Pacific Salary Budget Planning Survey ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2555 โดยบริษัททาวเวอร์ส วัทสัน (NYSE, NASDAQ: TW) ที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก ชี้ว่าสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และแนวโน้มทางบวกในภาคธุรกิจจะส่งผลให้หลายบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตัดสินใจปรับเงินเดือนพนักงานขึ้นในปี 2556 ในอัตราที่สูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่ร่วมทำการสำรวจนี้ ต่างก็มีแผนที่จะจ้างพนักงานเพิ่มในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับตลาดแรงงานในภูมิภาคดังกล่าว

ผลการสำรวจเผยว่าอัตราการขึ้นเงินเดือนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกจะอยู่ระหว่าง 2.3 เปอร์เซนต์ ถึง 12 เปอร์เซนต์ ในปี 2556 ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราในปี 2555 0.1 ถึง 0.5 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจระบุว่าอัตราการปรับเงินเดือนนี้ จะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2556 สำหรับทั้ง 13 ประเทศที่ทำการสำรวจ

ราเชล ซี อาร์เซบาล หัวหน้าฝ่าย โกลบอล ดาต้า เซอร์วิส ประจำเอเชีย แปซิฟิก บริษัททาวเวอร์ส วัทสัน กล่าวว่า “จากภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคที่ดีขึ้น ภาคธุรกิจจึงมีความมั่นใจในอนาคตมากขึ้นตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยราว 2 ใน 3 ของบริษัทในภูมิภาคนี้ต่างก็เชื่อว่าธุรกิจของตนจะทำผลประกอบการได้ดีขึ้นในอนาคต และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็มีแผนที่จะจ้างพนักงานเพิ่มในอีก 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี ผลสำรวจของเรายังประเมินว่าบริษัทต่างๆ จะขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานด้วยอัตราที่สูงกว่าปีที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเหล่านายจ้างต่างกำลังอยู่ในอารมณ์ระมัดระวังตัวเต็มที่เช่นเดียวกัน ถึงกระนั้นก็ตาม หลายบริษัทต่างก็พยายามอย่างเต็มที่ในการเสนอแพคเกจค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ที่ดึงดูดใจพนักงาน โดยคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะมีต่อตัวพนักงานเป็นสำคัญ”

บริษัทที่ร่วมทำการสำรวจในเวียดนามและอินเดียต่างก็มีแผนที่จะขึ้นเงินเดือนด้วยอัตราสูงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเวียดนามและอินเดียนั้น คาดว่าจะเป็น 2 ชาติที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อสูงสุด ด้วยอัตราเงินเฟ้อกว่า 7.6 และ 6.9 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับในปีหน้า ทั้งนี้ อินเดียจะเป็นชาติที่มีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมามากที่สุด ด้วยส่วนต่างถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับอัตราการขึ้นเงินเดือนในช่วงต้นปี 2555

สำหรับประเทศสิงคโปร์นั้น นายจ้างก็เตรียมที่จะขึ้นเงินเดือนที่อัตราเฉลี่ย 4.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 ซึ่งสูงกว่าอัตรา 4.3 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์กันว่าอัตราการว่างงานของสิงคโปร์จะอยู่ที่ระดับเพียง 2.0 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยตลาดแรงงานในสิงคโปร์นั้น น่าจะยังมีตำแหน่งงานว่างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้อัตราค่าจ้างในอนาคตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

คุณอาร์เซบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า “สภาพเศรษฐกิจและขนาดของประเทศสิงคโปร์ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดแรงงานในประเทศมีตำแหน่งงานว่างอยู่เสมอ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต้องการแรงงานที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง การออกกฎหมายเพื่อลดการจ้างพนักงานชาวต่างชาติ และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น อาจทำให้ค่าตอบแทนพนักงานเพิ่มสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน และบริษัทในสิงคโปร์ก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีพัฒนาแผนบริหารจัดการแรงงานในรูปแบบใหม่ๆ ลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และมุ่งเน้นปรับปรุงการบริหารระบบสวัสดิการและค่าตอบแทนของพนักงาน ซึ่งรวมไปถึงการสื่อสารข้อมูลในด้านดังกล่าวกับพนักงานด้วยเช่นกัน”

แนวโน้มผลประกอบการธุรกิจและการจ้างงาน
นอกจากนี้ การวิจัยของทาวเวอร์ส วัทสัน ยังพบว่าบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมุมมองต่อแนวโน้มผลประกอบการในอนาคตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา โดยราว 2 ใน 3 (65 เปอร์เซ็นต์) ของบริษัทที่ร่วมให้ข้อมูลก็เชื่อว่าผลประกอบการของตนจะปรับตัวดีขึ้นภายในช่วงปลายปี 2555 ในขณะที่การสำรวจครั้งก่อนหน้าเมื่อ 6 เดือนที่แล้วนั้น มีบริษัทเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คาดการณ์อนาคตของตนไว้ในทางบวก ส่วนจำนวนบริษัทที่คาดการณ์แนวโน้มในทางลบนั้นก็ลดลงจาก 28 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่อีก 25 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าธุรกิจของตนจะมีอัตราการเติบโตคงที่และแนวโน้มผลประกอบการคงตัว

91 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่ร่วมให้ข้อมูลเปิดเผยว่ามีแผนที่จะจ้างพนักงานใหม่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยจะมุ่งเน้นไปที่งานฝ่ายขาย วิศวกรรม และการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต

ส่วนในด้านอัตราการลาออกของพนักงานนั้น พบว่าประเทศจีน อินเดีย สิงคโปร์ และไทยจะมีอัตราพนักงานสมัครใจลาออก เพิ่มมากขึ้นเล็กน้อยในปี 2556 ในขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม จะมีอัตราพนักงานลาออกลดลง

สำหรับเหตุผลหลักๆ 3 ข้อที่ทำให้พนักงานลาออกจากบริษัทคือ ได้งานใหม่ที่มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า (43.6 เปอร์เซ็นต์) เงินเดือนสูงขึ้น (38.8 เปอร์เซ็นต์) และความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น (12.9 เปอร์เซ็นต์)

คุณอาร์เซบาล ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “ถือว่าไม่น่าแปลกใจเลยที่โอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานคือสิ่งที่พนักงานในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ให้ความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต นอกจากนี้ ในขณะที่ชนชั้นกลางกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น พนักงานที่อายุยังน้อยต่างก็กำลังมองหาโอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ นายจ้างในปัจจุบันควรจำไว้เสมอว่า แม้เงินเดือนจะถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน แต่ปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ นอกจากในด้านการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน”

เกี่ยวกับการสำรวจ Asia Pacific Salary Budget Planning Survey
การสำรวจ Asia Pacific Salary Budget Planning Survey จัดทำขึ้นโดยทาวเวอร์ส วัทสันทุกๆ ครึ่งปี โดยการสำรวจครั้งล่าสุดประจำไตรมาสที่ 3 นั้น ได้จัดทำขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2555 ในรูปของแบบสอบถามออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามรวมถึง 500 รายจากบริษัทต่างๆ ใน 13 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเงินการธนาคาร ยา รถยนต์ เคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทางเทคโนโลยี พลังงาน และค้าปลีก

 

images : www.cameronhanover.com