เนื้อหาวันที่ : 2012-11-30 12:06:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1472 views

เตือนรัฐใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจหวั่นดันหนี้สาธารณะพุ่ง

ธปท.เชื่อเศรษฐกิจโลกปี56 ฟื้น ดันไทยขยายตัว ยันพร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินสนับสนุนหากมีสัญญาณชะลอตั

ธปท.เชื่อเศรษฐกิจโลกปี56 ฟื้น ดันไทยขยายตัว ยันพร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินสนับสนุนหากมีสัญญาณชะลอตัว "โฆสิต" คาดจีดีพีปีหน้าโต 4-5% เตือนรัฐระวังใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่นหนี้สาธารณะพุ่ง แนะภาคเอกชนให้ความสำคัญพัฒนาบุคลากรมากกว่าลงทุนเครื่องจักร เพิ่มศักยภาพแข่งขันรับเออีซี

นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการธปท. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการฯ วานนี้ (29 พ.ย.) ฝ่ายบริหารได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และเดือน ต.ค.ว่า ปรับตัวดีกว่าที่ ธปท.ได้คาดการณ์เอาไว้ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการฯ และกรรมการเป็นห่วงทิศทางปีหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจของบางประเทศที่อาจเปลี่ยนแปลงเร็ว จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จึงขอให้ธปท.ติดตามดูการบริโภคและการลงทุนในประเทศเพื่อกำหนดนโยบายได้เหมาะสม

 นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในงานสัมมนา "รู้ทันเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2556" จัดโดยบลจ.ไทยพาณิชย์ ว่า เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นจากช่วง 2-3 เดือนก่อน แต่ยังคงอ่อนแอ และมีปัจจัยเสี่ยง ส่วนไทยยังมีแนวโน้มเติบโตดี แต่หากมีการส่งสัญญาณชะลอตัว ธปท.ก็พร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินดูแล ทั้งนี้เห็นว่าไทยและเอเชียยังคงเป็นเป้าหมายของเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี

ใช้เงินกระตุ้นเสี่ยงหนี้สาธารณะพุ่ง
 นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปาฐกถาพิเศษ "ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2556 โอกาสความท้าทายและการปรับตัว" โดยระบุว่าปี 2556 จะเติบโตใกล้เคียงปีนี้ ที่จีดีพีขยายตัว 4-5% โดยปัจจัยบวกระยะสั้นมาจากการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่การใช้เงินในลักษณะนี้ต้องระมัดระวัง เพราะหากใช้มากจะทำให้ขาดดุลงบประมาณ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวเหมือนสหรัฐ ส่วนปัจจัยบวกระยะยาวคือการเติบโตของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เช่น ลาว ที่ จีดีพี ขยายตัว 10% ฟิลิปปินส์  7%

ส่วนปัจจัยเสี่ยง จะมาจากปัจจัยภายนอกคือเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเขตเศรษฐกิจสำคัญของโลกทั้งสหรัฐและยุโรป ที่ยังขาดความแน่นอนในการแก้ปัญหา โดยสิ่งที่บ่งชี้ความไม่ปกติ คือ 1.การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ 2.อัตราว่างงานยังสูง โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ เช่น สเปน ที่สูงถึง 50%

"ยุโรปและสหรัฐ อาจต้องใช้เวลานับสิบปี ทำให้การเติบโตยังไว้ใจไม่ได้ ซึ่งจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนั้นยังจะมีการเคลื่อนย้ายของทุนที่รุนแรง เกิดความไม่มีเสถียรภาพในตลาดทุน ที่คาดเดาได้ยาก"

พัฒนาคนดีกว่าลงทุนเครื่องจักรกล
ปี 2556 ยังต้องจับตาความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ เช่น อิสราเอล อิหร่าน ซีเรีย หรือบทบาทของมหาอำนาจที่เพิ่มขึ้นในอาเซียน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ซึ่งนำมาซึ่งภัยพิบัติที่บ่อยขึ้น และเกิดในพื้นที่ใหม่ๆ ของโลก"

นายโฆสิต กล่าวว่า การปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจะต้องให้ความสนใจใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องเน้นเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ซึ่งสำคัญกว่าการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ

2.การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ต้องเน้นการทำงานร่วมกันในกลุ่มอุตสาหกรรม มียุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรม โดยเฉพาะบริษัทเล็กๆ

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า ปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐอเมริกา คาดว่าการเจรจาอาจจะมี 2 รอบ รอบแรกช่วงปลายปีนี้และรอบ 2 ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐช่วงครึ่งแรกของปียังคงผันผวนก่อนดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้น แรงส่งจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ยังจะคงต่อเนื่องไปถึงช่วงกลางปีหน้าก่อนที่จะหมดแรงส่ง ดังนั้นช่วงครึ่งปีหลังตัวขับเคลื่อนที่สำคัญยังคงต้องมองไปที่การส่งออกและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

"เราห่วงเรื่องการจำนำข้าวว่าอาจจะทำให้มีปริมาณเกินความต้องการเมื่อถึงเวลาระบายข้าว จึงมีความเสี่ยงที่อาจจะขาดทุนมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงเช่นกัน"

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตลาดกังวลต่อเศรษฐกิจโลก เงินที่อัดฉีดเข้ามาในระบบจึงไปอยู่ในตลาดตราสารหนี้เป็นหลักมากกว่าตลาดหุ้น แต่หากตลาดมองว่าเศรษฐกิจโลกถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือใกล้ถึงจุดต่ำสุด เชื่อว่านักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและกล้าเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นปีหน้าน่าจะมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น คาดว่าหุ้นไทยมีโอกาสไปถึง 1,500 จุด และช่วง 2-3 ปี จากนี้มีโอกาส ทำสถิติสูงสุดระดับ 1,700 จุด

"สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติสนใจคืองบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาท ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ในปีหน้า รวมถึงเงินเฟ้อ แต่มั่นใจว่าธปท.จะดูแลได้"

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ปีนี้ตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และปัจจุบันมูลค่าของหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มแพงกว่าตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ในปีหน้าการจัดสรรเงินลงทุนของนักลงทุนในส่วนแรก อาจจะมีการหมุนเงินเดิมไปลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่ราคาถูกกว่าและมีโอกาสในขาขึ้นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ หรือ ไต้หวัน เป็นต้น

5 ปีทองอาเซียน ทุนนอกไหลเข้าลงทุน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในระยะสั้นปัญหาหน้าผาการคลังสหรัฐ จะยังความผันผวนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ส่วนการแก้ไขภาระทางการคลัง 6 แสนล้านดอลลาร์ คาดว่าจะทยอยตัดลดรายจ่ายปีละ 2 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการหดตัวของเศรษฐกิจ และการว่างงาน อย่างไรก็ตามแก้ปัญหาของสหรัฐจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ขณะที่ยุโรปจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ไทย เนื่องจากรัฐและเอกชนหลายประเทศในภูมิภาคมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจะมีการไหลเข้าของเงินลงทุนมากที่สุดในรอบ 15 ปี นับจากวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ขณะที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้ไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุนจำนวนมาก

"การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีโอกาสที่จะเติบโตได้จากการค้ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพราะมีการเติบโตสูงมาก เช่น การส่งออกของเมืองไทยไปยัง พม่า ลาว เวียดนาม ปัจจุบันคิดเป็นมูลค่า 70% ของการส่งออกไปสหรัฐ และการส่งออกไปตลาดเหล่านี้เติบโตปีละ 22% ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯโตเพียง 2% ที่สำคัญอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นเวลาสำคัญของการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ จะมีคลื่นของนักลงทุนจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในช่วงนี้เราต้องไม่ทะเลาะกันเอง ต้องไม่มีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง"

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนปี 2555 สูงกว่าปีที่แล้วกว่า 100% โดยช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. อยู่ที่ 8.26 แสนล้านบาท ทำให้คาดว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่ยอดส่งเสริมถึงระดับ 1 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2556 จะมีปัจจัยสนับสนุน คือ 1.เศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรปที่ซบเซา ทำให้เอเชียได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น 2.ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีนโยบาย "ไชน่าพลัสวัน" โดยลงทุนนอกจีน และไทยถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญ 3.กระแสการลงทุนผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ของญี่ปุ่นจะเข้ามาไทยมากขึ้น โดยมีการมาสำรวจและติดต่อกับบีโอไอแล้ว

4.มาตรการบีโอไอ ที่ให้การสนับสนนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอประเภทพิเศษที่ใช้เทคโนโลยี อุตสาหกรรมพลาส ติก อุตสาหกรรม ยานยนต อุตสาห กรรมไฟฟ้าอิเล็ก ทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเช่นพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อดำเนินการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นในเรื่องคุณภาพมากกว่าเรื่องปริมาณยุโรปและสหรัฐ อาจต้องใช้ เวลานับสิบปี ทำให้การเติบโตยังไว้ใจไม่ได้แนะภาคเอกชนให้ความสำคัญพัฒนาบุคลากร มากกว่าลงทุน เครื่องจักร