เนื้อหาวันที่ : 2012-11-29 09:05:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1455 views

กนง.คงดอกเบี้ยตามคาด ชี้เศรษฐกิจไทยส่อแววสดใส กสิกรฯออกแคมเปญใช้หนี้

กนง.เป็นห่วงสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เร่งตัวขึ้นนั้น ไม่น่ากังวลมากนัก ซึ่งธนาคารเตรียมออกแคมเปญกระตุ้นให้ลูกหนี้มาชำระหนี้เพื่อลดยอดหนี้คงค้าง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ขณะที่ กนง.ประเมินว่าดอกเบี้ยในปัจจุบันยังผ่อนปรนและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดย กนง.จะติดตามเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

"แม้เศรษฐกิจโลกจะมีเสถียรภาพและมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน แต่ความไม่แน่นอนของการต่ออายุมาตรการด้านการคลังของสหรัฐ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณดีขึ้นทั้งภาคการส่งออกและการลงทุนในประเทศ ส่วนยุโรปยังชะลอตัว แต่คาดว่าการเงินจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปีหน้า จากมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่มีความชัดเจนขึ้น ด้านเศรษฐกิจเอเชียปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากการประเมินครั้งก่อนที่ 5.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เห็นได้จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ ที่จะช่วยชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัว โดยประเมินว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 56

อย่างไรก็ตาม กนง.ยังเป็นห่วงการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงถึง 15% โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่ยอดค้างชำระก็เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยในเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะจะช่วยภาคธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่า กนง.จะไม่ปรับดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ต้นปีหน้าจะมีนโยบายการเงินอย่างไรนั้นต้องดูเงินทุนไหลเข้าในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ในปี 56 ก่อนว่า เงินทุนไหลเข้ามากจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งหรือไม่ ถ้าค่าเงินบาทแข็งมากเกินไปอาจปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อสกัดไม่ให้เงินทุนไหลเข้ามากนัก ขณะเดียวกันต้องดูแนวโน้มเศรษฐกิจโลกด้วยว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าหากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นมาก และเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้เหมือนเดิม

ส่วนกรณีที่ กนง.เป็นห่วงสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เร่งตัวขึ้นนั้น ไม่น่ากังวลมากนัก ซึ่งธนาคารเตรียมออกแคมเปญกระตุ้นให้ลูกหนี้มาชำระหนี้เพื่อลดยอดหนี้คงค้างในเร็ว ๆ นี้ด้วย

นายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อบ้านให้กับลูกค้าได้เพิ่มขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะทรงตัว ส่วนเรื่องสินเชื่ออุปโภคบริโภคนั้นยังไม่พบสิ่งผิดปกติ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มีเงินเดือนทำให้ความเสี่ยงต่ำ สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าไมโครไฟแนนซ์ โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ยังไม่มีสัญญาณหนี้เสีย.