เนื้อหาวันที่ : 2007-05-24 08:22:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3063 views

ทักษิณปาล์ม ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าทะลายปาล์มแห่งแรกของโลก

ทักษิณปาล์มสุราษฎร์ธานี ลงทุน 900 ล้านบาท เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากทะลายปาล์มแห่งแรกของโลก และเร่งพัฒนากิจการปาล์มน้ำมันให้เป็นปาล์มคอมเพล็กซ์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย รัฐ-เอกชนชี้มีผลดีสร้างงาน-รายได้ในพื้นที่ คาดสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ 1 ก.ค.2550 นี้

ทักษิณปาล์มสุราษฎร์ธานี ลงทุน 900 ล้านบาท เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากทะลายปาล์มแห่งแรกของโลก และเร่งพัฒนากิจการปาล์มน้ำมันให้เป็นปาล์มคอมเพล็กซ์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย รัฐ-เอกชนชี้มีผลดีสร้างงาน-รายได้ในพื้นที่ คาดว่าจะสามารถเปิดการเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ได้ในวันที่ 1 ก.ค.2550 นี้

.

นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา กรรมการผู้จัดการบริษัททักษิณปาล์ม (2521) จำกัด เปิดเผยผู้สื่อข่าว ภายหลังจากที่ทางบริษัทในเครือทักษิณปาล์ม ได้พัฒนากิจการปาล์มน้ำมันให้เป็นปาล์มคอมเพล็กซ์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยแล้ว ได้ระดมทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากทะลายปาล์มขนาด 9.95 เมกกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท ภายใต้ชื่อบริษัทสุราษฎร์ธานี กรีนเอ็นเนอยี่จำกัด โดยได้ทำสัญญาขายกระแสไฟฟ้าจำนวน 8.8 เมกกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) เป็นระยะเวลา 25 ปี

.

ทั้งนี้ ใช้ทะลายปาล์มซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากการสกัดน้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบในการผลิต 150,000 ตัน/ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะสามารถเปิดการเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ได้ในวันที่ 1 ก.ค.2550 นี้

.

นายธนารักษ์ กล่าวว่า โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากทะลายปาล์มหรือโรงไฟฟ้าชีวมวล นั้นนับว่าเป็นผลงานของวิศวกรคิดค้นมานานกว่า 10 ปี และประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก และแห่งแรกของประเทศไทย โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2547 มีทุนจดทะเบียนเพียง 210 ล้านบาท  แต่มูลค่าการลงทุนกว่า 900 ล้านบาทในพื้นที่กว่า 50 ไร่ ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งในส่วนของเงินทุนได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ.เป็นระยะเวลา 8 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชาน) และการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นโดยผ่าน New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกในมาตรการกลพัฒนาที่สะอาดและประเทศฟิลิปปินส์ 

.

นายธนารักษ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับทะลายปาล์มเปล่าที่ผ่านมาเป็นวัสดุเหลือใช้รวมกับเส้นใยปาล์มและกะลาปาล์มจากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม   ในขณะที่เส้นใยปาล์มและกะลาปาล์มมีค่าความร้อนสามารถแปรเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ในขณะที่ทะลายปาล์มไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีค่าความชื้นสูง จึงกลายเป็นวัสดุเหลือใช้ที่ไร้ค่าและปริมาณมาก  

.

"เดิมทะลายปาล์มเปล่าเหล่านี้จะถูกนำไปฝังกลบเพื่อให้เกิดการย่อยสลายเป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน กระนั้นกระบวนการย่อยสลายกลับก่อให้เกิดน้ำเสียและก๊าซมีเธนซึ่งก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม"

.

ทางบริษัท สุราษฎร์ธานี กรีนเอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัททักษิณปาล์ม จึงได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นเพื่อนำทะลายปาล์มเปล่าเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต กระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยลดการพึ่งพาน้ำมันที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าประมาณปีละ 17 ล้านลิตร หรือลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

.

เขากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การนำทะลายปาล์มเปล่ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงจะต้องผ่านขบวนการจัดเตรียมก่อนเพื่อที่จะนำไปเผาในเตาเผาที่ออกแบบมาเป็นพิเศษความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้จะถูกนำไปต้มน้ำเพื่อผลิตไอน้ำป้อนให้กับเครื่องกังหันไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้านี้มีกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 9.95 เมกกะวัตต์ และขายให้กับบริษัท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำกัด (มหาชน) 8.8 เมกกะวัตต์

.

ภายใต้สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภทสัญญา FIRM เป็นระยะเวลา 25 ปี ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งเข้าระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในบริเวณท้องถิ่นและมีปริมาณกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการอนัเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

.

ด้านนายอมร วรวิทู วิศวกรฝ่ายการผลิต บริษัททักษิณปาล์ม (2521 ) จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งในแต่ละปีใช้ปริมาณทะลายปาล์มประมาณ 135,000 - 150,000 ตัน/ปี และในส่วนของ กระบวนการผลิตจำเป็นต้องใช้น้ำประมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำตาปี ทั้งนี้ในส่วนของน้ำที่จำเป็นต้องใช้ เพราะเมื่อได้ทะลายปาล์มมาแล้วต้องผ่านไอน้ำไปสู่กังหันไอน้ำ ก่อนที่จะแปรรูปเป็นไฟฟ้า โดยตอนนี้ได้ทดลองใช้ในบางส่วนแล้วประสบความสำเร็จ เพราะได้ผ่านการคิดค้นโดยคณะวิศวกรคนไทยทั้งหมดและนับว่าเป็นแห่งแรกของโลกก็ว่าได้ที่ผลิต กระแสไฟฟ้าจากทะลายปาล์ม

.

ในขณะที่นายสมเดช มณีวัต ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ปลูกปาล์มของ จ.สุราษฎร์ธานีมีขยายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งจังหวัดจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดมีประมาณ 7 แสนไร่ ที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 5 -6 แสนไร่ และบางส่วนยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพื้นที่เพื่อเตรียมปลูกปาล์มอีกจำนวนมากประมาณ 1 แสนไร่

.

เนื่องจากปัจจุบันปาล์มน้ำมันมีราคาดี กิโลกรัมละประมาณ 4 บาททำให้เกษตรกรเริ่มพลิกผันจากการทำการเกษตรอย่างอื่นมาปลูกปาล์มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้หาก กระบวนการจัดการของภาคเอกชนมุ่งสู่การพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้านับว่าในอนาคตเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้น สามารถนำผลผลิตเข้าสู่โรงงานได้ทันทีและราคาอยู่ได้ เพราะแนวโน้มกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันในรูปของพลังงานมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

.

นายสมเดช กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเองยังได้ปรับแผนปฏิบัติการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยส่งเสริมให้มีการปลูกปาล์มให้ถึง 5 ล้านไร่ในปี 2553 มีการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลชุมชน ปี พ.ศ.2550 มีการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลหรือ B 100 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านลิตรต่อวันในปี 2554 และบังคับให้มีการใช้น้ำมัน B2 คือน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 จำนวน 2 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับน้ำมันดีเซล จำนวน 98 เปอร์เซ็นต์ จำหน่ายภายในเดือนเม.ย.2551

.

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าอนาคตของปาล์มน้ำมัน จากที่นำมาผลิตเพื่อบริโภคและอุปโภคในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีความต้องการผลผลิตอีกจำนวนมาก เพื่อนำมาผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงคือน้ำมันไบโอดีเซล

.

ด้านนายธีระกิจ หวังมุทิตากุล ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กรณีบริษัทในเครือทักษิณปาล์ม ผลิตกระแสไฟฟ้าจากทะลายปาล์มนับว่าเป็นจังหวะและโอกาสดีของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี  เพราะนอกจากจะได้ส่งเสริมการลงทุนในท้องถิ่นแล้วยังเป็นการสร้างงานให้กับท้องถิ่นอีก ขณะเดียวกันนับเป็นการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนปาล์มอีกด้วย เพราะสามารถรองรับปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องของราคาปาล์มตกต่ำ

.

ที่มา : คมชัดลึก