เนื้อหาวันที่ : 2012-11-27 10:04:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2822 views

ผุดปิโตรคอมเพล็กซ์เวียดนาม 8.8แสนล.

ปตท.ชงสร้างโรงกลั่น-ปิโตร ครบวงจร การลงทุนของปตท.นับเป็นการลงทุนของต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ในเวียดนาม

ปตท. ชงแผนสร้างปิโตรคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม มูลค่า 8.8 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าลงทุนหลังรัฐบาลอนุมัติ สร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 6.6 แสนบาร์เรลต่อวัน ติดอันดับ 1 ใน 5 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าอีก 7 ปี เริ่มเดินหน้าโครงการ

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ยังเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากพม่าซึ่งกลุ่มปตท.ได้เข้าไปลงทุนมาอย่างยาวนานแล้ว ล่าสุดได้รุกเข้าไปในเวียดนาม ด้วยการเสนอแผนลงทุนปิโตรเคมีแบบครบวงจร ต่อรัฐบาลเวียดนาม

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่ารัฐบาลท้องถิ่นของประเทศเวียดนามได้จ้างบริษัทย่อยของปตท. คือ บริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์ จำกัด (PTTES) ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมีครบวงจร มูลค่ารวม 2.87 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 6.6 แสนบาร์เรลต่อวัน

กระบวนการในการศึกษาได้แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาลกลางเวียดนาม ว่า จะอนุมัติให้ดำเนินโครงการดังกล่าวหรือไม่ หากโครงการได้รับการอนุมัติ ปตท. ก็พร้อมจะเข้าลงทุน แต่โครงการนี้ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะชัดเจน"

ทั้งนี้ พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์ ได้รับการว่าจ้างไปศึกษารูปแบบ และความเป็นไปได้ของโครงการพลังงานในหลายประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมของปตท.สำหรับการเปิดประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี 2558

ปตท.ตั้งเป้าจะเป็นท็อปแบรนด์ในธุรกิจพลังงานของอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาปตท.ได้เข้าไปทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในหลายประเทศในอาเซียนแล้ว และจะค่อยๆรุกไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่ ปตท. มีอยู่ 7-8 ธุรกิจ โดยปัจจุบันในอาเซียน ปตท.มีการลงทุนในพม่าสูงสุด อันดับ 2 คือ เวียดนาม"

เผย ปตท. ส่งผลศึกษาให้เวียดนามแล้ว
 วานนี้ (26 พ.ย.) สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานหนังสือพิมพ์ของทางการเวียดนามว่า ปตท. กำลังวางแผนสร้างโรงกลั่นน้ำมันมูลค่า 2.87 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 880,000 ล้านบาท ในภาคกลางของเวียดนาม โดยมีกำลังการผลิต 660,000 บาร์เรลต่อวัน         หนังสือพิมพ์ Tuoi Tre รายงานการเปิดเผยของคณะบริหารเขตเศรษฐกิจที่จะมีการตั้งโรงกลั่นดังกล่าว ว่า ปตท.ได้รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงกลั่นนัง ฮอย ต่อรัฐบาลกลางของจังหวัด บินห์ ดินห์ แล้ว         Tuoi Tre ยังรายงานว่า การก่อสร้างอาจเริ่มขึ้นในปี 2559 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2562 ขณะรอการอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนาม

การลงทุนของปตท.นับเป็นการลงทุนของต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ในเวียดนาม
โรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม
เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดนอน ฮอย ได้ขอให้ปตท.แสดงสถานะทางการเงิน และทำการศึกษาความเป็นไปได้ให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว เพื่อส่งมอบให้แก่รัฐบาลของทางจังหวัด โดยคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจเปิดเผยว่านอน ฮอย มีท่าเรือที่สามารถรองรับเรือขนาด 30,000 ตันบรรทุก และจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกภายในปี 2563    โรงกลั่นของปตท.จะมีกำลังการผลิตมากกว่ากำลังการผลิตในปัจจุบัน ของโรงกลั่น ดุง ควท ถึงเกือบ 5 เท่า

โดยโรงกลั่น ดุง ควท เป็นโรงกลั่นเพียงแห่งเดียวของเวียดนาม ขณะที่มีกำลังการผลิต 135,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า สู่ระดับ 240,000 บาร์เรล ต่อวัน  เวียดนาม ได้วางแผนที่จะมีโรงกลั่นอีก 4 แห่งเป็นอย่างต่ำ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 25-30 ล้านตัน ภายในปี 2563 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้   โครงการโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามในขณะนี้คือโรงกลั่นขนาด 200,000 บาร์เรลต่อวันใน หงิ เซิน ในจังหวัด แท็ง ฮว้า ทางภาคกลาง ซึ่งเป็นโรงกลั่นแห่งที่สองของประเทศ โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 7.5 พันล้านดอลลาร์  นักลงทุนของโรงกลั่นน้ำมัน หงิ เซิน ตั้งเป้าที่จะลงนามในข้อตกลงด้านวิศวกรรม, การจัดซื้อ และการก่อสร้างกับทางผู้รับเหมาสัญญาในเดือนหน้าและจะเริ่มการก่อสร้างไม่นานหลังจากลงนามในข้อตกลง      โรงกลั่น หงิ เซิน เป็นการร่วมทุนระหว่างปิโตรเวียดนาม, คูเวต ปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล, อิเดมิตสุ โคซัง และมิตซุย เคมิกัลส์ ของญี่ปุ่น

เสนอสร้างคอมเพล็กซ์ครบวงจร
ด้าน นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า ทางจังหวัดบินห์ ดินห์ มีความต้องการจะสร้างโรงกลั่นน้ำมัน จึงได้ให้ทางปตท.ศึกษาความเป็นไปได้ หรือ PRE-FEASIBILITY STUDY ซึ่งการศึกษาของปตท.เห็นว่าหากจะทำโรงกลั่น ควรทำเป็นคอมเพล็กซ์ หรือ การลงทุนโรงกลั่นและปิโตรเคมีที่ครบวงจร โดยหากทางจังหวัดเห็นว่าควรจะดำเนินการ ก็จะส่งให้รัฐบาลกลางพิจารณาต่อไป "ยังไม่สรุปว่าปตท.จะลงทุนหรือไม่ ต้อง

ดูเงื่อนไขในหลายๆ เรื่อง และไม่ทราบว่าทางเวียดนามให้ ปตท. ศึกษาเพียงรายเดียว หรือให้รายอื่นศึกษาด้วย อย่างไรก็ตาม การที่เวียดนามให้ ปตท.ศึกษา เพราะเห็นศักยภาพของ ปตท.ในธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี"

โครงการปิโตรฯพื้นที่กว่าหมื่นไร่
ขณะที่นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ รองกรรม การผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. กล่าวว่า ปตท.ได้ศึกษาโครงการนี้เพียงเจ้าเดียว ซึ่งปกติหากโครงการผ่าน ผู้ที่ศึกษาจะได้เป็นผู้ลงทุน โดยนอกจากโครงการนี้แล้ว ปตท.ได้ศึกษาในลักษณะนี้หลายประเทศ แต่โครงการในเวียดนามเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่สุด"

โครงการปิโตรเคมีครบวงจรที่เสนอให้จังหวัด บินห์ ดินห์ พิจารณา วงเงินลงทุนประมาณ 2.87 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการผลิต 6.6 แสนบาร์เรลต่อวัน และโรงงานปิโตรเคมี กำลังผลิต 10.2 ล้านตันต่อปี แยกเป็นสายผลิตโอเลฟินส์ 6.5 ล้านตันต่อปี และ อะโรเมติกส์ 3.7 ล้านตันต่อปี

งนี้ จังหวัดบินห์ ดินห์ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่ หรือ 2 พันเฮกตาร์ ซึ่งขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้น นำเสนอต่อจังหวัดบินห์ ดินห์และกำลังจะนำเสนอต่อรัฐบาลเวียดนาม

คาดใช้เวลา7ปีหลังเวียดนามอนุมัติ
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า เดิมทีเอกชนเวียดนามอยากจะสร้างโรงกลั่นขนาด 1-2 แสนบาร์เรลต่อวัน และให้ ปตท.ศึกษาโครงการเบื้องต้นในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ โดย ปตท.เสนอว่าหากจะลงทุนควรทำเป็นคอมเพล็กซ์เชื่อมต่อกับปิโตรเคมี อย่างไรก็ตามเป็นแค่การศึกษาเบื้องต้นมากๆ หากรัฐบาลเวียดนามอนุมัติถึงจะศึกษารายละเอียดโครงการต่อ และเริ่มทำโครงการ คาดใช้เวลา 6-7 ปี

ราคาหุ้น บริษัท ปตท. หรือ PTT ปิดตลาดเมื่อวานนี้ (26 พ.ย.) ราคาไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 312.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,013.35 ล้านบาท

ขึ้นแท่น1ใน5โรงกลั่นใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
นายอเลกซ์ ยัป นักวิเคราะห์แห่งบริษัทแฟคส์โกลบอลเอนเนอจี ชี้ว่า หากโครงการนี้เดินหน้า ก็จะติดอันดับ 1 ใน 5 โรงกลั่นใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทำให้เวียดนามมีผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นสำรองจำนวนมาก เพราะเวียดนามมีโครงการสร้างโรงกลั่นแล้ว 2 โครงการ

ดังนั้นหากมีอีกหนึ่งโครงการที่มีขนาดใหญ่เท่านี้ ก็จะถือว่ามโหฬาร เมื่อเทียบกับความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศของเวียดนาม ซึ่งมีเพียง 400,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 1 ใน 3 ของโรงกลั่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ในส่วนของประเทศอื่นนั้น บริษัทปิโตรนาสของมาเลเซีย มีแผนสร้างโรงกลั่นมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีกำลังการผลิต 300,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่รัฐยะโฮร์ หากโครงการเดินหน้า  ก็จะติด 1 ใน 5 โรงกลั่นใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก