เนื้อหาวันที่ : 2012-11-27 09:58:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1612 views

ภาคครัวเรือนหนี้กระฉูด2.74 ล้านล.

ภาคครัวเรือนหนี้กระฉูด2.74 ล้านล. แห่ซื้อรถ-มอเตอร์ไซค์ดันเอ็นพีแอลบุคคลพุ่ง25%

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 3 ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2555 ว่า ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนไตรมาส 3 พบว่ามียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล มีมูลค่า 2,748,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยเป็นสินเชื่อเพื่อการซื้อที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น 10.3% สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 33.6% และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น เพิ่มขึ้น 30.3% สำหรับการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และการซ่อมแซมที่พักอาศัยอันเนื่องมาจากความเสียหายจากอุทกภัย

ส่วนความสามารถในการชำระหนี้คืนพบว่า ครัวเรือนมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 2555 มูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้น 37.8% คิดเป็นมูลค่า 7,382 ล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 11.1% นอกจากนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 25.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 56,527 ล้านบาท คิดเป็น 21.4% ของเอ็นพีแอลรวม ชี้ให้เห็นว่าความสามารถในการชำระหนี้คืนของประชาชนเริ่มลดลงโดยเฉพาะหนี้ประชาชนรายย่อย

"มีแนวโน้มในอนาคตที่เอ็นพีแอลจะมากขึ้นได้ เพราะประชากรสร้างหนี้มากขึ้นจากกระแสทุนนิยม วัตถุนิยม มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวที่มากขึ้นโดยเฉพาะผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อย แม้รัฐบาลจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน แต่ผู้ประกอบการก็ปรับตัวโดยลดชั่วโมงการทำงานลงแทน ทำให้ได้รับเงินค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดลง โดยไตรมาส 3 มีแรงงานที่ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ 6,160,821 คน เพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นจากการผลักภาระของผู้ประกอบการ ทำให้ค่าใช้จ่ายของประชากรเพิ่มขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ขณะที่การออมไม่เพิ่มขึ้นโดยตัวเลขเมื่อปี 2554 สัดส่วนการออมของคนไทยอยู่ที่ 7.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ" นางสุวรรณีกล่าว

นางสุวรรณีกล่าวถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติว่า ยังคงมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการลักลอบเข้าเมือง ในปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย 2,700,000-3,500,000 คน เป็นผู้ที่พำนักอาศัยและทำงานประมาณ 3,140,000 คน ขณะที่แรงงานที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย ณ เดือนก.ย.2555 มี 1,160,000 คน ในส่วนของแรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตคาดว่ามีประมาณ 2,000,000 คน หรือ 65% ดังนั้น จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ เพื่อลดปัญหาแรงงานลักลอบเข้าเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

สำหรับความสุขมวลรวมของคนไทยในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ดัชนีความสุขลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจาก 6.5 ในเดือนมี.ค. เหลือ 5.79 ในเดือนก.ย. ปัจจัยสำคัญคือเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และภัยพิบัติตามธรรมชาติ