เนื้อหาวันที่ : 2007-05-23 15:35:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1577 views

SME BANK อุ้มผู้ประกอบการ เปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิต

โครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรและช่วยสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเครื่องจักรเดิมหรือติดตั้งเครื่องจักรใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาก ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียระหว่างเดินเครื่องผลิต และเพิ่มศักยภาพการผลิต

โครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรและช่วยสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเครื่องจักรเดิมหรือติดตั้งเครื่องจักรใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาก ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียระหว่างเดินเครื่องผลิต และเพิ่มศักยภาพการผลิต

.

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) เปิดเผยถึง โครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร (Machine Fund) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ในการพัฒนาและปรับปรุงเครื่องจักร  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดย SME Bank ได้ลงนามความร่วมมือสนับสนุนโครงการฯ    เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ในการสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร ซึ่งธนาคารพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาเครื่องจักร การปรับปรุงเครื่องจักรเดิม และการติดตั้งเครื่องจักร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท และผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนดอกเบี้ย 3 % เป็นระยะเวลา 5 ปี จาก สสว. ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ NPL หรือหากเคยเป็นลูกหนี้ NPL ต้องปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี  

.

ผู้ประกอบที่เข้าข่ายการให้การสนับสนุนจะเป็น 19 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโครงการ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เหล็กและโลหะการ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ลอจิสติกส์ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ชิ้นส่วนรถยนต์และไฟฟ้า สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อาหารและเกษตรแปรรูป เป็นต้น

.

"ผมเชื่อว่าโครงการ Machine Fund จะได้รับความสนใจจากลูกค้าธนาคารอย่างมาก เพราะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการโรงงานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีเครื่องจักรที่มีอายุการใช้งานมาก เก่า หรือชำรุด ดังนั้น การได้รับความช่วยเหลือจากสสว.ในการสนับสนุนดอกเบี้ยถึง 3 % จะช่วยสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนหรือติดตั้งเครื่องจักรใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาก ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียระหว่างเดินเครื่องผลิต และเพิ่มศักยภาพการผลิต"

.

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า  สำหรับขั้นตอนการวิเคราะห์และประเมินเครื่องจักรโดยผู้เชี่ยวชาญ จนกระทั่งการอนุมัติเงินกู้ในโครงการฯจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 45 วันทำการ โดยเริ่มตั้งแต่ การยื่นใบสมัครเข้าโครงการฯ การประเมินจากเจ้าหน้าที่ จนถึงการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งในส่วนของการพิจารณาสินเชื่อใช้จะเวลาเพียง 15 วัน หลังจากที่ธนาคารได้รับแจ้งผลทางเทคนิค จากคณะกรรมการอำนวยการโครงการ (สอท.) แล้ว