เนื้อหาวันที่ : 2012-11-26 10:37:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1987 views

เส้นตาย 2 ปีเจรจา FTA ไทย-อียูชักช้าถูกตัด GSP ส่งออกเคว้ง

ครม. หวังเปิดเจรจาต้นปี 2556 ก่อนถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP หวังย้ายรายการสินค้าที่ต้องอาศัย GSP

กระทรวงพาณิชย์ชง FTA ไทย-สหภาพยุโรป เข้า ครม. หวังเปิดเจรจาต้นปี 2556 ก่อนถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP หวังย้ายรายการสินค้าที่ต้องอาศัย GSP เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าเร่งลดภาษี กลุ่มเฝ้าระวังยาค้านเต็มเหนี่ยว ให้อำนาจคุ้มครองยาต่างชาติเกินกว่า WTO

นอกเหนือไปจากความพยายามของกระทรวงพาณิชย์ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กับสหรัฐแล้ว ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เตรียมที่จะเสนอ ร่างกรอบการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA ไทย-EU) เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อเร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตามมาตรา 190 ให้เร็วที่สุด ก่อนที่เงื่อนเวลาในการให้สิทธิพิเศษอัตราภาษีศุลกากร (GSP-EU) ที่ให้กับประเทศไทยจะสิ้นสุดลง

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ร่างกรอบการเจรจา FTA ไทยEU ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และนำเสนอต่อรัฐสภา หาก ครม./รัฐสภาให้ความ เห็นชอบ เท่ากับกระบวนการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป จะเริ่มต้นได้ในปลายปีนี้ถึงต้นปี 2556 หรือมีระยะเวลาการเจรจาอีก 2 ปีก่อนที่ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP-EU ในปี 2558

"หากกระบวนการในการผ่านร่างกรอบการเจรจาเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด การเจรจากับสหภาพยุโรปก็คงไม่ต้องเร่งรีบมากนัก เราต้องการให้นำรายการสินค้า ที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP-EU ในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่หลาย 1,000 รายการเข้าไปบรรจุเป็นสินค้าที่ได้รับการลดภาษีก่อน ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถึงอย่างไรก็คงต้อง หารือกันอย่างรอบคอบในทุก ๆ เรื่อง" นายสุรศักดิ์กล่าว

ขณะที่ นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ระเบียบ GSP-EU ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 จนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยกำหนดเกณฑ์การตัดสิทธิพิเศษ GSP เป็นรายประเทศ กล่าวคือหากประเทศใดได้รับการจัดอันดับโดยธนาคารโลก ให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มี รายได้สูง (High Income Countries) และกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Countries) เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ประเทศนั้นก็จะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP แต่ทางสหภาพยุโรปจะให้ระยะเวลา ในการปรับตัวเป็นเวลา 1 ปีก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งระเบียบฉบับใหม่นี้จะทำให้ประเทศผู้รับสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป ลดลงจาก 176 ประเทศ เหลือเพียง 89 ประเทศ

"ในปีนี้ประเทศไทยยังคงไม่ถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP เพราะสถิติการจัดลำดับ รายได้ในปี 2553-2554 ปรากฏประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 4,150 และ 4,420 เหรียญสหรัฐตามลำดับ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Upper Middle Income Countries ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีแล้ว แต่ถ้าหากระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยในปี 2555 ยังคงอยู่ในระดับ Upper Middle Income ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ก็จะมีผลให้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิเศษ GSP ในปี 2557 บวกระยะเวลาปรับตัวอีก 1 ปี เท่ากับเรามีเวลาถึงปี 2558 ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการพึ่งพา GSP-EU ลงให้ได้" นางปราณีกล่าว

อย่างไรก็ตามนอกเหนือไปจากเกณฑ์ตัดสิทธิจากรายได้ตามการจัดลำดับของธนาคารโลกแล้ว สหภาพยุโรปยังใช้เกณฑ์ตัดสิทธิพิเศษ GSP จากเกณฑ์มูลค่าสินค้านำเข้าภายใต้สิทธิพิเศษ GSP เฉลี่ย 3 ปีติดต่อกันเกินกว่าร้อยละ 17.5 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดนั้น ๆ ด้วย (14.5% สำหรับสินค้าสิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่ม) โดยคณะกรรมาธิการยุโรปจะ ประกาศรายชื่อหมวดสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ พิเศษ GSP ในช่วงต้นปี 2556 และจะมีผลบังคับ ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป

สำหรับการใช้สิทธิพิเศษ GSP-EU ในปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2555 พบว่า ประเทศไทยส่งออก ภายใต้สิทธิพิเศษ คิดเป็นมูลค่า 5,709.95 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 62.60 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ พิเศษ GSP ทั้งหมด 9,121.30 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ใช่ว่าการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาภายในประเทศเพื่อเปิดเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขต การค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ตั้งข้อสังเกตว่า FTA ระหว่างไทยกับ สหภาพยุโรปเป็นการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

"จนถึงปัจจุบันรัฐบาล โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังมิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง แม้กรมเจรจาฯจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในช่วงปี 2553 แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น การออกความคิดเห็นของประชาชนจึงไม่สามารถสะท้อนท่าทีของรัฐบาลหรือเนื้อหาในกรอบการเจรจาได้"

ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและการคุ้มครอง ผู้บริโภค กล่าวว่า ทางสภาที่ปรึกษาเข้าใจดีว่า รัฐบาลต้องการที่จะเปิดเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป ให้ได้ต้นปี 2556 แต่เนื่องจากการเจรจาจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ "ร่างกรอบเจรจา FTA ไทย-EU" อย่างทั่วถึงก่อนเสนอให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 อย่างเคร่งครัด

"เฉพาะเรื่องของยาในกรอบการเจรจาต้องระบุอย่างชัดเจนว่า (ร่าง) กรอบการเจรจาฯ ระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สิน ทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก (TRIPs) กฎหมาย ไทย หรือความตกลงใด ๆ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่"