เนื้อหาวันที่ : 2012-11-22 09:48:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1718 views

ผวาอีก 2ปี ไฟฟ้าเสี่ยงดับ เผยโรงไฟฟ้าสร้างไม่ทัน

หาก 2 ปีจากนี้การใช้ไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มแต่โรงงานไฟฟ้าเกิดขึ้นน้อยจะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำมาก ซึ่งจะเสี่ยงต่อความมั่นคงของปริมาณไฟฟ้าไทย

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน  เปิดเผยในงานสัมมนา "สแกนความพร้อมไฟฟ้าไทยรับเออีซี" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ไปทำความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและปรับแผนการผลิตและรับซื้อไฟใหม่เนื่องจากมีความวิตกถึงสำรองไฟที่ขณะนี้อยู่ที่ 16% จากการผลิตระดับ 32,000 เมกะวัตต์ ขณะที่การใช้ไฟเฉลี่ยโตปีละ 8.95% หาก 2 ปีจากนี้การใช้ไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มแต่โรงงานไฟฟ้าเกิดขึ้นน้อยจะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำมาก ซึ่งจะเสี่ยงต่อความมั่นคงของปริมาณไฟฟ้าไทย

"อนาคตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะทยอยหมดลงต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเข้ามา มีราคาแพงกว่า ซึ่งอีก 8-9 ปีค่าไฟฟ้าฐานของไทยจะขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับเมื่อไทยเข้าสู่เออีซี การใช้ไฟจะสูงมากตามไปด้วยจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมและเห็นว่าภูมิภาคนี้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการขายไฟได้อย่างดี ซึ่งการเชื่อมโยงสายส่งกับ 4 ประเทศคือ พม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม จะทำให้ไทยมีโอกาสแสวงหาไฟราคาถูกได้"

ทั้งนี้ได้มอบให้ กฟผ. ไปพิจารณาแนวที่จะลดผลกระทบค่าไฟได้แก่การขยายรับซื้อไฟจากต่างประเทศระยะยาว 20 ปีโดยเฉพาะพลังงานน้ำจากลาว เพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์จาก 7,000 เมกะวัตต์ และพม่าเป็น 10,000 เมกะวัตต์จากเดิม 1,500 เมกะวัตต์โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนฮัดจี และท่าซาง

นอกจากนี้เน้นการผลิตโรงไฟฟ้าถ่าน หินเพิ่มขึ้น โดยนำร่องในจังหวัดที่ประชาชนสนับสนุนเช่น จ.กระบี่ และส่งเสริมพลังงานทดแทนที่จะต้องไม่กระทบค่าไฟมากจนเกินไป โดยเฉพาะแสงอาทิตย์จะเน้นส่วนของการติดตั้งในหลังคาบ้านและหลังคาโรงงานที่ขณะนี้กำลังหามาตรการส่งเสริมอยู่

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีค่าไฟต่ำในภูมิภาคนี้ เพราะจะเห็นว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ใช้ถ่านหินผลิตไฟถึง 40% ซึ่งมีต้นทุนต่ำ ขณะที่สัดส่วนไทยใช้เพียง 20% และยังใช้ก๊าซสูงถึง 70% จึงยอมรับว่าระยะยาว 10-20 ปี จึงเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน.